รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) กล่าวว่า สาขาวิชาวิศกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและอาเซียน โดยนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ผสมผสานแพทยศาสตร์มาตอบโจทย์แก้ปัญหา สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสริมประสิทธิภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานบำบัดรักษาผู้ป่วยได้สะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งนี้ วิศวกรชีวการแพทย์ เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานทั่วโลกสูงมาก โดยจะต้องมีความรู้ในศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและพื้นฐานทางการแพทย์ ปัจจุบัน BART LAB มีห้องแล็บผ่าตัดจำลองและได้พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ มาอย่างต่อเนื่อง (www.BARTLAB.org) เพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทยซึ่งขาดแคลนแพทย์ที่มีความชำนาญสูง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย เช่น DoctoSight หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์อัจฉริยะ ระบบนำทางผ่าตัดมะเร็งเต้านม และ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ที่สามารถทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ได้ โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะสามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ในหลายด้าน เช่น ความแม่นยำสูงในพื้นที่ทำงานอันจำกัด ลดระยะเวลาการผ่าตัดและเพิ่มประสิทธิผล ลดความผิดพลาดจากความเหนื่อยล้า ทำงานได้ตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสำหรับการเปิดแผลเล็กนั้น โดยปกติการผ่าตัดประเภทนี้จะต้องใช้บุคลากรจำนวนมากและมีความชำนาญในพื้นที่อันละเอียดอ่อนและจำกัด เมื่อมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จะเข้ามาช่วยแพทย์ให้การผ่าตัดได้รับความแม่นยำและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมลดภาระบุคคลากรลงด้วย
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Minimal Invasive Surgery: MIS) ที่นำมาแสดงสาธิตในงานนี้ คือ หุ่นยนต์ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งในการผ่าตัด จะเจาะรูเล็กๆ เพียง 1 - 2 ซม. บริเวณผิวหนังที่ต้องการจะผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเข้าไป หุ่นยนต์จะทำหน้าที่ช่วยถือจับอุปกรณ์การผ่าตัดอย่างมั่นคง โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ซึ่งจะอิงอยู่กับจุดที่ทำการผ่าตัดที่กำหนดไว้ ไม่ให้เคลื่อนออกพ้นจากจุดที่ทำการผ่าตัดเปิดแผลไว้ ช่วยป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อ และที่สำคัญคือ เมื่อต้องทำการฆ่าเชื้อ สามารถถอดอุปกรณ์ออกมาได้ หรือระหว่างการผ่าตัดต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องมือบ่อยครั้ง ไม่เป็นอุปสรรค ในลักษณะของการขับเคลื่อน หุ่นยนต์จะช่วยขับเคลื่อนเข้ามาช่วยให้แพทย์ทำงานอย่างแม่นยำเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ ระบบขับเคลื่อนผ่านสายส่งกำลัง เป็นระบบที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ จะมีตัวส่งกำลัง ระบบมอเตอร์สำหรับขับเคลื่อนหุ่นยนต์อยู่ด้านหลัง
นอกจากนี้ ในยุคเทคโนโลยีสื่อสารที่ก้าวหน้า เรายังได้พัฒนาระบบผ่าตัดที่ควบคุมระยะไกล ทำให้ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์และทีมแพทย์ที่อยู่หน้างานกับผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลกัน เช่น กรณีศัลยแพทย์อยู่ในกรุงเทพ แต่ผู้ป่วยอยู่ต่างจังหวัดต้องได้รับการผ่าตัดด่วน การมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ที่หน้างานจะสามารถตัดสินใจและเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์กับหุ่นยนต์ได้ ใช้งานง่าย ซึ่งถอดแบบมาจากผู้ที่มีประสบการณ์ความชำนาญสูง ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้แพทย์การรักษาบำบัดผู้ป่วยได้แม่นยำรวดเร็ว สามารถเข้าถึงอวัยวะที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนได้ในพื้นที่ทำงานอันจำกัด ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น แผลเล็ก เสียเลือดน้อย เจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว อีกทั้งเพิ่มโอกาสให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยคนอื่นได้มากขึ้นด้วย ปัจจุบันทีม BART LAB กำลังพัฒนาการเชื่อมต่อ โดยยึดหลักความปลอดภัย และประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และหุ่นยนต์เป็นสำคัญ
ที่มา: บริษัท เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด