"จะเห็นได้ว่าสัดส่วนผู้ที่รักษาหายได้กลับบ้านมีปริมาณที่มากกว่าการพบผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน จึงถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะนั้นหมายถึงจังหวัดของเราประสบผลสำเร็จในการดูแลและเฝ้าระวังป้องกัน ทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนมคลายความกังวลไปได้มาก แต่อีกส่วนที่ต้องตระหนักและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในแต่ละพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ คือ การติดเชื้อในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการหมู่บ้าน บูรณาการร่วมกันดูแลสอดส่องติดตามข้อมูลข่าวสาร กรณีพี่น้องประชาชนที่กลับมาแล้วให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีหลุดรอดหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบได้ โดยปัจจุบันจังหวัดนครพนมได้มีคำสั่งข้อปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดนครพนม แบ่งเป็นมาตรการจังหวัดสีแดง 61 จังหวัดและจังหวัดสีเหลือง 15 จังหวัด จึงอยากให้ทุกคนที่จะเข้ามาศึกษาให้ดีเพราะไม่อยากให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่"
นายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงศ์เวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มการพบผู้ป่วยลดลงและมีผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่มมากขึ้น ทำให้จังหวัดนครพนมมีจำนวนเตียงในการรักษาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงคาดว่าถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่ในลักษณะเช่นนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ จำนวนเตียงในการรักษาคงมีเพียงพอ และคงไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดโรงพยาบาลสนามอีกต่อไป ขณะที่การฉีดวัคซีนให้ประชาชนจังหวัดนครพนมดำเนินการฉีดไปแล้ว 104,463 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.56 ของประชากรทั้งหมด โดยบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 4,152 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 5,195 คน
"ในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่ กรณีพบผู้ติดเชื้อในตลาดสดนั้นได้ปฏิบัติการเชิงรุก เก็บตัวอย่างเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในผู้ที่ไปใช้บริการ ซึ่งปรากฏว่าทุกคนมีผลเป็นลบ (ไม่พบผู้ติดเชื้อ) จึงไม่น่าเป็นห่วงเพราะคาดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว แต่ในส่วนคลัสเตอร์ของพนักงานขนส่งสินค้ารถบรรทุก ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ค่อนข้างสูง ประมาณ 50 ราย ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันได้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกและให้กักตัวสำหรับผู้มีความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนมได้มีการปรับมาตรการสำหรับการปฏิบัติของพนักงานรถบรรทุก เมื่อจะเข้าพื้นที่ต้องมีการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดจากต้นทางทุกรายเพื่อรับรองก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งจะมีด่าน 4 มุมเมืองตั้งอยู่โดยรอบ เพื่อตรวจเช็คก่อนจะอนุญาตให้เข้ามาในจังหวัด รวมถึงมีมาตรการจัดระเบียบลานจอดรถบรรทุกใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน"
อนึ่ง ในส่วนของจำนวนเตียงสำหรับรองรับการรักษาผู้ปวยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เตียงศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ชุมชน (CI) ทั้งหมด 769 เตียง ใช้ไป 67 เตียง คงเหลือ 702 เตียง จำนวนเตียงโรงพยาบาลสนาม ทั้งหมด 1,390 เตียง ใช้ไป 442 เตียง คงเหลือ 948 เตียง จำนวนเตียงโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ทั้งหมด 606 เตียง ใช้ไป 305 เตียง คงเหลือ 301 เตียง รวมจำนวนเตียงทั้งหมด 3,765 เตียง รวมใช้ไป 814 เตียง คงเหลือรองรับผู้ป่วย 1,951 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564
ที่มา: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม