รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาหารและผลิตผลการเกษตร เป็นความมั่นคงของประเทศและภูมิภาคโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะโควิด-19 โรคอุบัติใหม่แพร่ระบาดและภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนผลิตผลการเกษตรหรือภาวะข้าวยากหมากแพงได้ ดังนั้นเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farmer จะมีบทบาทช่วยยกระดับและพัฒนาการทำเกษตร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่ผลผลิตโดยไม่ต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศเพียงอย่างเดียว แม้แต่ในเมืองใหญ่ซึ่งมีที่ดินจำกัด เช่น กรุงเทพฯ ก็สามารถทำเกษตรแนวตั้งปลูกผักผลไม้บนดาดฟ้าอาคาร หรือการนำเทคโนโลยีระบบน้ำหยดมาใช้ดูแลต้นไม้ นอกจากช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่แล้ว ยังตอบโจทย์ลดภาระงานหนัก การใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างประหยัดและคุ้มค่า ตลอดจนการพึ่งพาตนเองได้ สามารถเป็นแหล่งอาหารและยา หรือวัตถุดิบสำหรับชุมชนหรือคนเมืองในสถานการณ์วิกฤติได้อีกด้วย การจัดกิจกรรมของคณะวิศวะมหิดลครั้งนี้ จุดประกายให้เห็นความสำคัญของระบบ Smart Farmer เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ครู และเกษตรกรในชุมชน ได้สัมผัสเรียนรู้และปรับใช้ รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำเกษตรแบบใหม่
ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม (ESR) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า น้ำเป็นปัจจัยหลักในการปลูกพืช เกษตรกรจึงควรมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี โครงการ "พัฒนาครูสู่ระบบ Smart Farmer เพื่อการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีวิทยากร คุณสมเกียรติ พรมตุ้ม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณเทวฤทธิ์ ธรรมกุลคุณากร บริษัท สยามไอโอที จำกัด เป็นวิทยากร มุ่งเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์เกี่ยวกับระบบ Smart Farmer การควบคุมมอเตอร์สำหรับสั่งการรดน้ำแปลงผักผ่านแอพพลิเคชั่น ให้แก่บุคลากรครูเพื่อนำไปพัฒนาการเรียนรู้สู่นักเรียน โดยแนวคิดของ Smart Farmer ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นต้องเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ไปใหญ่ ค่อยๆ เรียนรู้ ลงมือทำและปรับปรุงแก้ไขไปพร้อมกับการสร้างระบบที่เหมาะสม
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อคิดเห็นว่า ระบบ Smart Farmer เป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่แม่นยำตรงตามเป้าที่ได้วางไว้ รวมถึงสามารถควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน แต่เทคโนโลยีส่วนใหญ่มักมีราคาสูงและมีการใช้งานที่ยุ่งยาก สำหรับหลักสูตรพัฒนา Smart Farmer ครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ความรู้ด้าน วิศวกรรมเกี่ยวกับมอเตอร์ไฟฟ้าและวงจร ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบแอร์ ระบบประตูอัตโนมัติ ฯลฯ โดยอุปกรณ์หลักที่จำเป็นสำหรับใช้ควบคุมปั๊มน้ำ ประกอบด้วยแมกเนติกคอนแทคเตอร์ (Magnetic Contactor) อุปกรณ์สวิทช์ตัดต่อวงจรไฟฟ้า ใช้สำหรับติดตั้งเข้ากับสวิทช์ เปิด - ปิด แบบ WIFI และ Barker ไฟฟ้า เพื่อให้การรดน้ำต้นไม้สามารถควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่น eWeLink บนสมาร์ทโฟนได้ รวมถึงมอเตอร์ไฟฟ้าและโซลินอยด์วาล์วไว้สำหรับควบคุมการไหลของน้ำ
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น