นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า "TCMA เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายของไทย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) มีการดำเนินงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ก่อตั้ง TCMA เมื่อปี 2549 แต่ด้วยปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบมากขึ้น หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อลดภาวะโลกร้อน TCMA จึงผนึกกำลังสมาชิกตั้งเป้าขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกใน 3 แผนงาน
- ส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ที่ลดก๊าซเรือนกระจก "ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก" ตั้งเป้าปี 2565 ลดได้ 300,000 ตันCO2 เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น
TCMA ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกวิจัย พัฒนา และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกว่า "ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก" ตาม มอก. 2594 รวมทั้งได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา
ในการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน เปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในทุกโครงการก่อสร้าง ภายใต้ 'บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: มาตรการทดแทนปูนเม็ด' ระหว่าง 16 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ความร่วมมือนี้ ทุกภาคส่วนที่มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จะนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการลดก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องตามนโยบายภาครัฐ และมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก - พัฒนาเหมืองสู่ความยั่งยืน อนาคตเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน
TCMA ให้ความสำคัญต่อการนำทรัพยากรแร่มาใช้อย่างคุ้มค่าตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุด โดยพื้นที่เหมืองที่เหมาะสม
อาจพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ หรือจุดเรียนรู้สำหรับชุมชนนั้นๆ จึงส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินงาน
ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) ด้วยการทำเหมืองให้ถูกต้องและปลอดภัย
ตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการแร่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดการเกิดผลกระทบ รวมทั้งการบริหารจัดการและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลังการทำเหมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและช่วยดูดซับ CO2 หรือบางพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ ก็จะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ เพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ตัวอย่างเช่น ได้มีการบริหารจัดการนำน้ำจากขุมเหมืองบ้านแม่ทาน จังหวัดลำปาง เชื่อมต่อไปยังบ่อน้ำชุมชนใกล้เคียงให้ได้ใช้ประโยชน์กว่า 250 ครัวเรือน นับเป็นต้นแบบความร่วมมือการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า และพัฒนาพื้นที่เพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ในอนาคต ส่งผลให้อุตสาหกรรมและชุมชนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน - สร้าง Ecosystem สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
TCMA มีนโยบายส่งเสริมสมาชิกจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ตลอดกระบวนการ หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ Waste อย่างถูกต้อง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำ Waste ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตร มากกว่า 5.9 ล้านตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในนำเศษคอนกรีตที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและรื้อถอน (Demolition Waste) มาใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยการดำเนินงานลักษณะนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง
นายชนะ กล่าวย้ำว่า "เชื่อมั่นว่า การดำเนินตาม 3 แผนงานข้างต้น และด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ TCMA ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้สนองตอบความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างพอเพียง ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด"
ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น