ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ และเน้นย้ำการทำงานในรูปแบบประชารัฐ บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มในการบริหารจัดการการเงินซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่จำเป็น และต่อยอดสู่การลงทุนได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงเป็นการดำเนินงานตามแนวนโยบายของนายกฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาแรงงานด้านการจัดการลงทุนอย่างตรงจุด
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ปี 2564 กพร.ร่วมกับ ก.ล.ต. จัด CSR สร้างโอกาสคนพิการในรูปแบบการเสวนา เพื่อขับเคลื่อนให้คนพิการมีทักษะ ประสบการณ์ สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ และร่วมจัดสัมมนา "ให้กลไกตลาดทุนเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ" เพื่อสนับสนุนให้เพิ่มการจ้างงานคนพิการ เพิ่มการจัดสัมปทาน และเพิ่มกิจกรรมทางสังคม โดยในปี 2564 - 2569 กพร.จะร่วมพัฒนาหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเงินการลงทุนเพื่อเพิ่มทักษะและองค์ความรู้เสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการการเงินและการลงทุนอย่างถูกวิธี และจัดเตรียมกลุ่มผู้รับการฝึกอบรม อาทิ คุณสมบัติการส่งเสริมทักษะการเงินการลงทุนให้แก่ผู้รับการฝึกฯ โดยออกแบบชุดความรู้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จัดฝึกอบรม และติดตามประเมินผลผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ มอบหมายหน่วยงานในสังกัด กพร. ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) จัดฝึกอบรมให้แก่แรงงานอย่างครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 ต่อไป
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสในความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มแรงงานทั่วประเทศ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเริ่มให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินการลงทุนเป็นกลุ่มแรก ๆ คือ แรงงานที่เข้ารับการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเน้นไปที่แรงงานกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้พิการ เพื่อให้มีความรู้ด้านนี้ด้วย โดย ก.ล.ต. จะสนับสนุนเนื้อหาและสื่อความรู้ที่ใช้ในการฝึกอบรม รวมถึงวิทยากรที่จะให้ความรู้ ทั้งความรู้เชิงทฤษฎีและการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างทักษะผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ก.ล.ต. จะนำรูปแบบการให้ความรู้ผ่าน trainer หรือ train the trainer ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดีจากหลายโครงการที่ผ่านมา มาประยุกต์ใช้ โดย trainer เป็นผู้ที่ใกล้ชิดและมีความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี จึงสามารถสื่อสารและส่งต่อความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะช่วยขยายผลการส่งต่อความรู้ไปในวงกว้างและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน