จิตรา จันโสด นักวิชาการประจำสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (ICOFIS) กล่าวถึงที่มาความสำเร็จว่า สถาบันฯ เริ่มต้นจากปรับเปลี่ยนความเข้าใจผิดของชุมชนที่ว่าการใช้ปุ๋ยเคมีสะดวกสบายและให้ผลผลิตที่สูง แม้จะตระหนักดีว่าไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาสูตรปุ๋ยอินทรีย์ที่มีต้นทุนต่ำ ให้ผลผลิตสูง และชักชวนเกษตรกรหัวก้าวหน้ากลุ่มเล็กๆ มาร่วมทดลองทำ ทดลองใช้
คุณวิรัตน์ ช่วยชุมชาติ เกษตรกรชุมชนตะโหมด หนึ่งในแนวหน้าอาสาร่วมทำ และเป็นนักวิจัยชุมชนรุ่นแรกที่ได้ร่วมวิจัยเปรียบเทียบปุ๋ยอินทรีย์ ICOFIS กับปุ๋ยอินทรีย์ที่จำหน่ายในท้องตลาด ร่วมพัฒนาแปลงสาธิตเพื่อการวิจัย รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ได้ยืนยันถึงประสิทธิภาพของปุ๋ยอินทรีย์ ICOFIS "ทุกวันนี้ยังใช้ปุ๋ยอินทรีย์ icofis ปลูกข้าว ปลูกผักและผลไม้ เพราะทำเกษตรอินทรีย์แล้วได้ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม และสุขภาพสิ่งแวดล้อม "
"เมื่อคุณภาพของปุ๋ยได้รับการยอมรับ จึงได้จัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นก่อนที่จะพัฒนาเป็น กลุ่มทำนาอินทรีย์ตะโหมด เริ่มต้นจาก 8 ครัวเรือน 20 ไร่ จนปัจจุบันขยายเป็น 4 กลุ่มใน 3 อำเภอ ได้แก่ กลุ่มทำนาอินทรีย์ตะโหมด กลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์วิถีคนดอนประดู่ กลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์สำหนักพิกุล หมู่ 6 และกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ หมู่ 7 ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน รวมทั้งหมด 161 ครัวเรือน พื้นที่รวม 851.5 ไร่ ทั้งหมดได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือผลตอบแทนความความใส่ใจและความซื่อสัตย์ของเกษตรกร ที่มั่นใจเพราะมีระบบดูแล ช่วยเหลือและควบคุมกันเองในกลุ่ม โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบติดตามเพื่อรับรองสมาชิกที่ปฏิบัติตามข้อกำหนด รวมทั้งมีการตรวจสารพิษตกค้างในข้าว ดิน และน้ำ ด้วยกระบวนการวิจัยที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และแก้ปัญหาทางวิชาการให้กับชุมชน" จิตรา จันโสด กล่าวเพิ่มเติมอีกว่านอกจากสมาชิกที่ผ่านการรับรองจะได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นระยะเวลาสามปี รวม 9,000 บาทต่อไร่ แล้วยังสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดซึ่งเป็นพันธุ์ท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัดพัทลุงที่ได้รับมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ สามารถขายได้ในราคาตันละหนึ่งหมื่นเจ็ดพันบาท จากเดิมที่ขายได้เพียงตันละแปดถึงเก้าพันบาท ในขณะที่บางกลุ่มสามารถขายเอกชนเพื่อนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่ากาแฟสำเร็จรูปได้ในราคาตันละสองหมื่นหนึ่งพันบาท
การขับเคลื่อนชุมชนด้วยระบบกลุ่มของสถาบันปฏิบัติการชุมชนฯ เป็นหนึ่งบทเรียนของการใช้วิชาการนำการพัฒนา ซึ่งโฟกัสที่ปัญหา ใช้การมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างความมั่นใจและทำให้เกิดการยอมรับ พัฒนากลุ่มเรียนรู้และกลุ่มกิจกรรม เริ่มจากกลุ่มไม่เป็นทางการ โครงสร้างไม่ซับซ้อน ค่อยๆเติบโตเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง มีการดูแล ควบคุม และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนมีผลงานที่ได้คุณภาพมาตรฐาน เป็นแรงขับเคลื่อนเพิ่มจำนวนสมาชิกและขนาดของกลุ่มต่อไปได้ การเพิ่มพื้นที่นาอินทรีย์มาตรฐาน Organic Thailand ให้ถึงหนึ่งพันไร่ จึงเป็นเป้าหมายที่ไม่ไกล ... เกษตรกรชาวนาที่มีหัวใจและพร้อมร่วมเดินทางไปด้วยกัน สามารถติดต่อ ICOFIS เพื่อขอรับบริการความรู้ได้จากทุกช่องทางการสื่อสารของมหาวิทยาลัยทักษิณ
ที่มา: มหาวิทยาลัยทักษิณ