ทุนวิจัยอาซาฮีนี้ ถือเป็นทุนที่ให้ความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งทุนสำคัญของ มจธ.ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ และยังเป็นทุนที่ทำให้นักวิจัยได้ต่อยอดผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยขยายผลทำให้สามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดผลงานเชิงประจักษ์ ที่สำคัญยังช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ดร.ปภาพิต หิรัญสิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ.ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮีมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 10 แล้ว โดยในปีนี้มีนักวิจัย มจธ. ที่ได้รับการสนับสนุนทุนถึง 7 โครงการ ครอบคลุม 5 สาขาการวิจัย ซึ่งตรงกับความมุ่งหวังในการสร้างความเข้มแข็งตามกรอบยุทธศาสตร์วิจัยทั้ง 7 ด้านของ มจธ. เป็นเงิน 5 ล้านเยน นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้ร่วมสมทบทุนวิจัยอีก 5 ล้านเยน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านบาท
" ในปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ที่ มจธ. ร่วมสมทบทุนสนับสนุนเพิ่มเติมหนึ่งเท่า เพราะมหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างรากฐานงานวิจัยที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และมีความประสงค์ที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมอาจารย์และนักวิจัยในทุกสาขา ให้สามารถพัฒนาศักยภาพทางการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยเกณฑ์การพิจารณาโครงการที่จะได้รับทุนวิจัย จะต้องเป็นโครงการที่ตอบโจทย์และสร้างผลกระทบทางสังคมได้ รวมไปถึงการต่อยอดงานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งการสนับสนุนจะถูกพิจารณาตามคุณภาพของข้อเสนอโครงการ รวมทั้งผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม โดยทางมจธ.จะจัดส่งผลการพิจารณาเบื้องต้นให้กับมูลนิธิกระจกอาซาฮีเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่จะได้รับทุนต่อไป"
สำหรับนักวิจัย มจธ.ที่ได้รับทุนวิจัยประจำปี 2564 ทั้ง 7 โครงการ ใน 5 สาขาการวิจัย ประกอบด้วย 1.สาขาวัสดุศาสตร์ ( Materials Sciences ) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ. ดร.นพพร รุจิสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง"การพัฒนาการเตรียมและวิเคราะห์เพอร์รอฟสไกท์โซลาร์แบบอนินทรีย์ : การศึกษาภาคทฤษฎีและทดลอง" เป็นการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของเพอร์รอฟสไกท์รวมถึงออปโตอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีไทยรูปแบบใหม่ที่จะเชื่อมโยงนักวิจัยไทย-ต่างประเทศและนักพัฒนาเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมในมิติใหม่ที่แตกต่างและมีคุณค่าคาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าของงานวิจัยระดับพื้นฐานของมจธ.สู่นวัตกรรมที่มูลค่าสูงระดับชาติต่อไป และ รศ. ดร. สนติพีร์ เอมมณี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง "การเปลี่ยนรูปแบบเสถียรของแผ่นวัสดุคอมโพสิตที่มีสมดุลเสถียรภาพสองตำแหน่ง" เป็นการศึกษาการปรับเปลี่ยนรูปร่างของโครงสร้างแผ่นวัสดุคอโพสิตที่สมดุลแบบเสถียรภาพสองตำแหน่งโดยการประยุกต์ใช้วัสดุเพียโซอิเล็กทริค มาเชื่อมบนผิวของโครงสร้างแผ่น คาดว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้จะสร้างมุมมองและกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับงานทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมในอนาคตเพื่อควบคุมการเปลี่ยนรูปร่างของวัสดุคอมโพสิตในโครงสร้างแบบแปรผัน
2.สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ดร.กานต์ธิดา กุศลมโน คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ในโครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาไมโครไบโอมของมูลช้างไทยด้วยความละเอียดสูงเพื่อการจัดการด้านอาหารและการปรับปรุงสุขภาพ" เป็นการศึกษาไมโครไบโอมในมูลช้างไทยโดยใช้เทคโนโลยีออกฟอร์ดนาโนพอร์ในการอ่านลำดับพันธุกรรมของจุลินทรีย์ผ่านยีนฯ โครงการนี้จะทำให้เกิดการค้นพบกลุ่มจุลินทรีย์หลักของช้างไทยซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพและการจัดการด้านอาหารของช้างไทยในอนาคต และ ดร.ภุมรี นามเขียว หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาการตอบสนองระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ภายหลังการเหนี่ยวนำให้เกิดอะไมลอยด์ด้วยโมเลกุลขนาดเล็กในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงแบบ 3 มิติ เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์" เป็นการวิจัยเพื่อสร้างโมเดลจำลองการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์เบต้าชนิด 42 ในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์คือหนึ่งในโรคประสาทเสื่อมถอยที่พบมากในผู้สูงอายุแต่ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเนื่องจากกลไกการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้จะช่วยอธิบายกลไกการเกิดพยาธิสภาพในเซลล์ประสาทและจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการค้นคว้าวิจัยเพื่อหายารักษาโรคต่อไป
3.สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) 1 โครงการ คือ รศ. ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาและการออกแบบกระบวนการออกซิเดชันขั้นสูงรูปแบบใหม่เพื่อกำจัดยาปฏิชีวนะและความเป็นพิษในน้ำเสียขาออก" เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อดื้อยา งานวิจัยนี้จึงมุ่งหวังที่จะพัฒนากระบวนการออกซิเดชันขั้นสูงรูปแบบใหม่ เพื่อใช้ในการกำจัดยาปฏิชีวนะและตรวจสอบความเป็นพิษที่หลงเหลือยู่ โดยงานวิจัยจะทำการทดสอบผลกระทบของปัจจัยการดำเนินการและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีต่อประสิทธิภาพเพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการบำบัดที่มีอยู่เดิมได้ 4. สาขาพลังงาน (Energy) 1 โครงการ คือ ดร.ไตรรัตน์ เมืองทองอ่อน ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์คุณสมบัติของไบโอชาร์ที่เตรียมจากขยะเศษอาหาร (Food Waste-to-Char Characteristics obtained from Various Kinds of Food Waste)" เป็นงานวิจัยที่ต้องการส่งเสริมแนวทางเลือกในการกำจัดเศษอาหารโดยใช้วิธีการเปลี่ยนสภาพขยะเศษอาหารให้เป็นเชื้อเพลิงผ่านกระบวนการไพโรไลซิสเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับเชื้อเพลิงจากเศษอาหารและเป็นไปตามแนวทางของแผนการปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน และ 5.สาขาวิทยาการสารสนเทศ 1 โครงการ คือ ดร.เทพโยธิน ปาล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ในโครงการวิจัยเรื่อง "Measuring the End-user Experience with Voice-assistants: From Usability to Acceptance" งานวิจัยนี้จะทำการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวบ่งชี้คุณภาพ ที่จะนำมาซึ่งการยอมรับในการใช้งานของอุปกรณ์ Voice-assistants (VA) เนื่องจาก VA เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่มีรูปแบบการทำงานเฉพาะสำหรับแต่ละคน แต่เนื่องจากความต้องการของแต่ละคนมีหลากหลาย ทำให้การออกแบบการสื่อประสานด้วยภาพ (Graphical User Interface: GUI) หรือการสื่อประสานด้วยเสียง (Voice-based System) เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการสร้าง VA เพื่อการใช้งานของคนแต่ละคนได้อย่างตรงตามที่ต้องการ ดังนั้น การออกแบบการสื่อประสานด้วยภาพหรือการสื่อประสานด้วยเสียงนั้น ต้องพิจารณาเรื่องของตัวบ่งชี้คุณภาพ (Usability) เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย ฯ กล่าวว่า " โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮีในแต่ละปีนั้น ล้วนมีความน่าสนใจ และสามารถช่วยตอบปัญหาหรือเป็นรากฐานในการตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบันและสร้างผลกระทบทางสังคมได้เป็นอย่างดี โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2555 - 2564 มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมาแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ แบ่งเป็น Material Science 12 โครงการ, Life Science 15 โครงการ , Information Sciences & Automatic Control 10 โครงการ , Environment 9 โครงการ และ Energy 7 โครงการ รวมเป็นงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี สูงถึง 31 ล้านเยน หรือประมาณ 9.5 ล้านบาท ทั้งนี้ ทาง มจธ.คาดหวังว่าจะยังคงมีความร่วมมือที่ดีต่อกันอย่างต่อเนื่องและอาจมีการหารือร่วมกับทางมูลนิธิฯ เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือให้เกิดความยั่งยืนต่อไป"
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี