ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลม.มหิดล คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2564 จาก วช.

จันทร์ ๐๖ กันยายน ๒๐๒๑ ๑๐:๒๓
ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง การขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตไม่ใช่เพียงการได้รับการยกย่องในฐานะผู้ได้รับรางวัล แต่คือการได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน และทำคุณประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์

เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิตสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มุ่งมั่นทำงานวิจัยตามพระปณิธานแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย" ซึ่งทรงอุทิศตลอดพระชนม์ชีพเพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ตลอดเวลาของการเป็นอาจารย์แพทย์ และศิษย์เก่าของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ของ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต จนได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำปีงบประมาณ 2564 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ซึ่งเป็นรางวัลที่ถือเป็นเกียรติสูงสุดของนักวิจัยไทยที่ได้ทำงานวิจัยเพื่อคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดิน ปวงชนชาวไทยและเป็นกำลังใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ไทยได้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็น "ประเทศนวัตกรรม" ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 9 ซึ่งว่าด้วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure)

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็น "อาจารย์แพทย์นักวิจัย" ว่าเกิดจากความสนใจใคร่รู้ในการที่จะไขปริศนาโรคภัยไข้เจ็บของผู้ป่วย และพบว่าการศึกษาเชิงลึกทางโลหิตวิทยา จะทำให้สามารถค้นหาคำตอบถึงสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อที่จะวางแผนในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย นอกเหนือจากการฝึกอบรมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยมหิดลแล้วศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านอณูเวชศาสตร์ (Molecular Medicine) จาก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักรทำให้มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านการวิจัยทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้ผลงานวิจัยที่ผ่านมามากกว่า 40 โครงการ ที่ได้รับทุนสนับสนุน ทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ เป็นผลงานที่ทำให้ได้รับคัดเลือกจาก วช. ให้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีผลงานวิจัยเด่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการตรวจวินิจฉัยโรคทางด้านโลหิตวิทยาและอณูเวชศาสตร์

โดยผลงานที่ได้ทำเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติตามพระปณิธานแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก คือ การได้เป็นนักวิจัยรายแรกของโลกที่ค้นพบโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม KLF-1 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน "Blood" วารสารทางวิชาการด้านโลหิตวิทยาระดับโลกเมื่อปีค.ศ.2014 ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก ประจำปีงบประมาณ 2558 จาก วช. อีกด้วย

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังได้เป็นผู้นำในการวิจัยเพื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางโลหิตวิทยา ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของภาวะซีดที่พบมากในชาวไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผลงานวิจัยมากกว่า100 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวครอบคลุมในทุกมิติตั้งแต่การพัฒนาการตรวจวินิจฉัย การตรวจคัดกรองเพื่อการควบคุมป้องกัน การวิจัยยาใหม่ๆ เพื่อการรักษา เช่น ยาขับเหล็ก ไปจนถึงการวิจัยในเชิงสังคม เช่น การศึกษาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงบริการ และอื่นๆ ผลงานเหล่านี้ได้รับการอ้างอิงในเวลาต่อมากว่าหลายพันครั้งในระดับนานาชาติรวมทั้งได้พัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการตรวจประเมินภาวะเหล็กสะสมในหัวใจและตับ ด้วยเครื่อง MRI ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและแม่นยำให้กับผู้ป่วยทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

จนเมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้โลกต้องหยุดชะงัก แต่ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังคงเดินหน้านำความรู้จากการทำงานวิจัยทางด้านการตรวจสารทางพันธุกรรม มาปรับใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างไม่ย่อท้อ โดยมองว่างานวิจัยและนวัตกรรมที่ดีจะต้องตอบโจทย์ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชนได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาสตามชุมชนต่างๆ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ จึงได้ดัดแปลงรถกระบะมาทำเป็น "รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย" ด้วยทุนส่วนตัว เพื่อสนับสนุนการตรวจเชิงรุก (Active Case Finding) ให้สามารถเดินทางไปถึงชุมชนห่างไกลในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยได้ โดยออกแบบติดตั้งห้องปฏิบัติการความดันบวกที่มีระบบกรองอากาศ และฆ่าเชื้อไวรัสติดตั้งบนด้านหลังรถกระบะ ทำให้เคลื่อนที่ได้สะดวก และให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเก็บตัวอย่างผ่านช่องถุงมือ ทำให้ไม่ต้องใช้ชุด PPE สำหรับป้องกันการติดเชื้อที่กำลังขาดแคลน ซึ่งเป็นการลดโลกร้อนจากการเพิ่มขยะให้กับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

จากความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคม และประเทศชาติ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถต้นแบบและสิทธิบัตรของ "รถเก็บตัวอย่างชีวนิภัย" แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2563 ภายหลังการประเมินคุณภาพและการทดสอบการใช้งานโดยกระทรวงสาธารณสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดสร้าง "รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน" ให้กับ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข สำหรับช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศจนปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 50 คัน ทำให้ศักยภาพของบุคลากร 1 ราย จากเดิมสามารถเก็บตัวอย่างได้ประมาณวันละ 200 - 300 ตัวอย่าง ปัจจุบันสามารถทำได้ถึงวันละประมาณ 1,500 ตัวอย่าง หากใช้รถพระราชทาน นำมาซึ่งความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้

แม้ปัจจุบันมาตรการรักษาระยะห่างจะคลายล็อกเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้กล่าวแสดงความห่วงใยประชาชนให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตัวเอง และการเข้ารับวัคซีนเพื่อการสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง จนอาจทำให้ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อที่กลายพันธุ์ หากไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน และอีกปัจจัยที่น่าเป็นห่วง คือ "ภาวะอ้วน" ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นทั้งโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ซึ่งได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมักพบอาการรุนแรงในผู้ที่มีภาวะอ้วน โดยจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่ำจึงถือเป็นโอกาสดีที่จะหันมาดูแลสุขภาพของตัวเอง และระวังเรื่องการมีน้ำหนักเกิน ด้วยการควบคุมการบริโภคให้มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือที่เหมาะสมในช่วงที่ต้องหยุดเรียนและทำงานที่บ้านในช่วงวิกฤติ COVID-19 นี้

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้กล่าวย้ำเพื่อฝากเป็นข้อคิดแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ทิ้งท้ายว่า "งานวิจัยที่ดีต้องมีประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย และรับใช้สังคม" คือ ความภาคภูมิใจ ซึ่งจะเป็นรางวัลที่แท้จริงสำหรับนักวิจัยทุกท่านที่มุ่งมั่นตอบแทนสังคมและประเทศชาติ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ