นางพรทิพย์ อัษฎาธร รักษาการนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) เผยว่าทางสมาคมฯ จะร่วมผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ตามโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม BCG Model ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศธุรกิจกัญชง (Hemp Ecosystem) ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้ยั่งยืน อีกทั้งได้นำเสนอแนวทางช่วยส่งเสริมพืชสมุนไพรกัญชง ให้ก้าวสู่ตลาดอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน ดังนี้ (1.) คุณภาพของวัตถุดิบแหล่งปลูกที่มีคุณภาพ (2.) ความเชื่อมั่นในมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดอุตสาหกรรม (3.) นวัตกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดโดยการร่วมกับพืชสมุนไพรไทย ที่ต่างประเทศยังไม่มี (4.) การตั้งราคาเหมาะสมกับกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ (5.) ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ หรือแบรนด์ชื่อดังส่งเสริมด้านการเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วขึ้น (6.) การขับเคลื่อนด้านการศึกษา และส่งต่อองค์ความรู้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนทั่วไป (7.) การจัดงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาด และง่ายต่อการเข้าถึงของผู้บริโภค (8.) การขับเคลื่อนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างให้กัญชงมีจุดแข็งในการนำไปใช้ที่ชัดเจน
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานในที่ประชุมได้สรุปแนวทางความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
- การจัดตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูล (Database) ของห่วงโซ่อุปทาน (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) เพื่อให้สามารถกำหนด Demand / Supply และ Target Market ได้ โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานข้อมูลไว้ที่ โรงงานยาสูบ เรียบร้อยแล้ว โดยให้ทางสมาคมประสานงานภาพรวม
- การให้คำปรึกษาผ่านหน่วยพัฒนารูปแบบธุรกิจ (Business Model Development Unit Consultation) แบ่งออกเป็น (2.1) Knowledge / Training (2.2) Product Development (2.3) Lab / R&D (2.4) Revenue & Sustainability โดยให้ทางสมาคมเป็นผู้ดำเนินงาน
- การจำแนกประเภทสินค้า (Product Classification) โดยการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาวินิจฉัยผลิตภัณฑ์ (Statistic Advise & Mono call Assistant) ได้แก่ Target Product Profile, Dossier Requirement, Milestone, Guideline and Procedure และ Regulations โดยให้ทาง อย.เป็นผู้ดำเนินงาน
- การกำหนดราคากลาง (Pricing) ในด้านโครงสร้างราคา และต้นทุนการปลูก โดยให้ทางสมาคมเป็นผู้ดำเนินงาน
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับประสานเรื่องปรับกฏระเบียบในแต่ละผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เป็นไปตามสากลและในเชิงธุรกิจ ที่ยังคุ้มครองผู้บริโภคได้
นอกจากนั้นในที่ประชุมยังมีรายงานความเคลื่อนไหวการดำเนินงานขับเคลื่อนพืชกัญชา กัญชงในภาคอุตสาหกรรม ด้านกฎหมาย ข้อกำหนด และการขออนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแล และร่วมหารือกันในประเด็นต่างๆ รวมถึงปัญหาอุปสรรค ของผู้ประกอบการรายต่างๆ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานผลักดันอุตสาหกรรมกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป