นายสุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE เปิดเผยว่า จากภาพรวมอุตสาหกรรมการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปในครึ่งปีหลังทั้งในตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงในตลาดเอเชีย ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดังกล่าวที่เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ จากดีมานด์การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ APURE ประเมินอัตราการเติบโต จากยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้น 20-30% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นไปตามปริมาณคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ ที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศในต่างประเทศ ยังเป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบให้ผลผลิตข้าวโพดมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการนำเข้าข้าวโพดหวานเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯมียอดออเดอร์ ที่เตรียมส่งมอบแล้ว 1,400 -1,500 ตู้คอนเทนเนอร์
"บริษัทฯได้มีการทำสัญญากับเกษตรกร (Contract Farming) สัดส่วนมากกว่า 90% ส่งผลให้บริษัทฯสามารถเพิ่มปริมาณข้าวโพดเข้าไลน์การผลิตได้มากถึง 300,000 ตันต่อปี จากเดิม 150,000 -180,000 ตันต่อปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทฯยังมีขีดความสามารถในการขยายการรับออเดอร์ใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง จากดีมานด์การสั่งซื้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากระดับราคาของบริษัทฯสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทย ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ เนื่องจากคุณภาพข้าวโพด และรสชาติ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในต่างประเทศเป็นอย่างดี จนประสบความสำเร็จในการเข้าไปขายในตลาดวอลมาร์ท (Walmart)"
สำหรับตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU)นั้น ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหม่ อย่างห้างสรรพสินค้า โดยล่าสุดได้มีการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อทดลองให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯคาดว่าดีลดังกล่าวจะสามารถสรุปได้ในเร็วๆนี้ ทั้งนี้หากคว้าดีลนี้ได้ ส่งผลให้บริษัทฯสามารถขยายช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่ายสู่ยุโรปได้เพิ่มขึ้น
ส่วนตลาดในเอเชีย อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีนนั้น นายสุเรศพล กล่าวว่า แม้ค่าระวางเรือจะปรับตัวสูงขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการขนส่งไปยังฝั่งทวีปอเมริกาใต้ สหภาพยุโรป ประเทศสหรัฐ และประเทศอินเดีย ดังนั้นจึงทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมียอดขายเติบโตตามเป้าที่วางไว้
"บริษัทฯยังคงต้องติดตามค่าระวางเรืออย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องยอมรับว่าผลกระทบจากค่าระวางเรือเป็นตัวแปรหลัก ที่ทำให้ลูกค้าบางรายมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น ดังนั้นโดยส่วนตัวมองว่า หากสถานการณ์การขาดแคลนด์ตู้คอนเทนเนอร์ และค่าขนส่ง กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อไหร่ บริษัทฯมีโอกาสขยายตัวได้อย่างมาก เพราะลูกค้าในปัจจุบันนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวโพด ที่มาจากประเทศไทย เพราะมั่นใจคุณภาพข้าวโพด และรสชาติ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดส่งผลให้แบรนด์สินค้าของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักและที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศอย่างมาก"
อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้า กรณีการเพิ่มกำลังการผลิตนั้น ล่าสุดบริษัทฯมีการนำเข้าเครื่องจักรมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งเครื่องจักร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน จะเตรียมเดินเครื่องจักรได้ในช่วงปลายปี 2564 ก่อนที่จะใช้กำลังการผลิตได้เต็มกำลัง 2,000 -2,500 ตู้คอนเทนเนอร์ ในกลางปี 2565 ส่งผลให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตรวมเป็น 11,500 ตู้คอนเทนเนอร์ เพิ่มขึ้น 25 % จากเดิมที่ 9,000 ตู้คอนเทนเนอร์
"ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไปในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ส่งผลให้บริษัทฯมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 80-90 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯคาดว่าจะไม่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือหากมี ก็ไม่สูงมาก โดยบริษัทฯได้ทำประกันความเสี่ยงด้านค่าเงินไว้ ในปีนี้ 50%เป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
ที่มา: มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์