นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยโดยรวมดีขึ้น หลังจากจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้านเพิ่มขึ้น และเริ่มมีจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อต่อวัน ส่วนการบริหารจัดการเตียงในขณะนี้ พบว่าจำนวนเตียงในพื้นที่ กทม. เริ่มเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย เนื่องจากการทำ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (SI) เป็นไปอย่างมีระบบส่งผลให้การบริหารจัดสรรเตียงเป็นไปอย่างราบรื่น โดยจากข้อมูลการรอคอยเตียงในระบบ Call Center พบว่าจำนวนผู้รอเตียงสีแดงมีจำนวนลดลงและมีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 24 ชม. ลดลงเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตามเนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อสะสมต่อเนื่องเป็นจำนวนมากและผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วดังกล่าว บางส่วนจะเป็นผู้ป่วยที่การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดทำได้ช้าเพราะปัจจัยด้านอายุหรือการมีโรคร่วม ดังนั้นการออกกำลังเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอดจึงเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเพื่อช่วยในการขับเสมหะ (ถ้ามี) และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ อันจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของปอดให้ดีและเร็วยิ่งขึ้น ตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO : Support for Rehabilitation: Self-Management after COVID-19 Related Illness / Exercise after leaving hospital)
ด้าน ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการจัดกิจกรรมสร้างสื่อความรู้ในการฟื้นฟูการทำงานของปอดและระบบหายใจแก่ผู้ป่วย Post-Covid-19 (Education support for rehabilitation self-Management after COVID-19 related illness) ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีสื่อการสอนให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านการป้องกันไวรัสโควิดและการให้ความรู้เรื่องวัคซีนโควิดค่อนข้างมาก แต่พบว่าสื่อที่ให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ป่วย Post-Covid ในการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างและประสานองค์กรที่เป็นตัวแทนกลุ่มการแพทย์ กลุ่มผู้ป่วยและหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ด้านการดูแลผู้ป่วย จึงได้มีแนวคิดในการจัดทำโครงการสร้างสื่อความรู้ในการฟื้นฟูการทำงานของปอดและระบบหายใจแก่ ผู้ป่วย Post-Covid-19 (Education support for rehabilitation self-Management after COVID-19 related illness) เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้ให้กับประชาชนและผู้ป่วย Post-Covid รวมถึงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้สำหรับการเป็นสื่อการสอนแก่ผู้ป่วย
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เชื้อไวรัส
โคโรนา-2019 มีความชื่นชอบระบบการหายใจของมนุษย์เป็นพิเศษ โดยมีคุณสมบัติการทะลุทะลวงลงไปถึงแขนงหลอดลมฝอยและถุงลมปอดได้ง่าย ทำให้ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเกิดปอดอักเสบมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่จะตรวจพบด้วยวิธีการใด แต่จะมีผู้ป่วยราว 50% เกิดปอดอักเสบที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมี 5% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงวิกฤต ทั้งนี้มีผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2% ซึ่งนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่ 1% เชื้อไวรัสนอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบเช่นเดียวกับเชื้อโรคอื่นแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราให้ทำงานอย่างรุนแรง เพื่อต่อต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัส แม้เมื่อเทียบกันแล้วอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุปอดอักเสบบางชนิด แต่เนื่องจากเชื้อนี้ถูกกำจัดไปจากร่างกายมนุษย์ได้ยาก จึงทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไปของร่างกายเรานี้แสดงออกอยู่เป็นเวลานานกว่าเชื้ออื่น ส่งผลให้มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของระบบการหายใจเป็นหลัก และตามมาด้วยการทำงานบกพร่องของระบบร่างกายอื่นตามมาได้ นอกจากนั้นเชื้อนี้ยังมีความสามารถในการรุกล้ำเส้นเลือดทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเกิดการขาดเลือดของอวัยวะสำคัญ ๆ ตามมา
ด้าน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันกลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูรกล่าวว่าระยะเวลาการเกิดปอดอักเสบนั้น ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อจะเกิดปอดอักเสบได้ตั้งแต่ 3-5 วันเป็นต้นไป ลักษณะจะคล้ายปอดอักเสบจากการติดเชื้ออื่น เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สองจะเกิดปอดอักเสบได้อีกระลอกจากภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไป ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและมีการเสียชีวิตตามมา และถ้าผ่านไปถึงสัปดาห์ที่สาม อาจเกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่งจากการที่ร่างกายพยายามฟื้นฟูปอด ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจ เกิดปอดอักเสบหลายชนิดคาบเกี่ยวกันได้ โดยที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาจะทำให้เกิดปอดอักเสบทุกระยะเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์แอลฟา หลักการรักษาคือ การให้ยาต้านไวรัสในช่วงแรก โดยพิจารณาให้ยารักษาสมดุลภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วยในรายที่มีอาการรุนแรง และเมื่อเข้าระยะสุดท้าย จึงเป็นการให้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาทั้ง 3 ระยะ สิ่งที่สำคัญคือการดูแลผู้ป่วย คือทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดสูงพอที่จะรักษาปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้
ด้านพญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณฑ์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก ร่วมกับ กภ.นภาพร แววทอง นักกายภาพบำบัดชานาญการ สังกัดงานกายภาพบำบัดกลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูสถาบันโรคทรวงอกและตัวแทนจากชมรมกายภาพบำบัดระบบหายใจ หัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ปอดถือเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบเลือดออกไปยังภายนอกร่างกาย ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ ไม่ว่าป่วยแล้วจะเกิดปอดอักเสบหรือไม่ และไม่ว่าจะหายป่วยจากปอดอักเสบโควิดไปแล้วก็ตาม การมีสุขภาพปอดที่แข็งแรงเป็นต้นทุนสุขภาพที่ดี จะเห็นได้ว่านักกีฬาอาชีพที่ป่วยด้วยโรคนี้มีน้อยมากที่เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง การส่งเสริมสุขภาพปอดทำได้โดย 1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะท่าการออกกำลังกายที่บริหารปอดให้กลับมาดีขึ้น ซึ่งขณะออกกำลังกายจะทำให้ปริมาตรอากาศไหลเข้าออกปอดในหนึ่งนาทีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรงและถุงลมในส่วนต่าง ๆ ของปอดถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซเต็มที่ เมื่อเกิดปอดอักเสบขึ้นปอดจะทนทานต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติได้นานขึ้น 2.พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ ไม่เครียด จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมระบบการป้องกันสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ผ่านลงไปในหลอดลมและถุงลมปอด 3. หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่นพีเอ็ม และก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุผิวในของหลอดลมและปอดถูกทำลายและเชื้อโรคทะลุทะลวงรุกล้ำเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นลึกได้ง่ายขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการข้อมูลคลิปวิดีโอการ์ตูนแอนิเมชั่นชุด "ก้าวสู่สุขภาพดีด้วยกายภาพบำบัดหลัง COVID-19" และแผ่นพับ จากโครงการจัดกิจกรรมสร้างสื่อความรู้ในการฟื้นฟูการทำงานของปอดและระบบหายใจแก่ผู้ป่วย Post-Covid-19 (Education support for rehabilitation self-Management after COVID-19 related illness) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1Yulos4d6YSoAMgqJoXyj0sFk13iABpd0/view?usp=sharing
ที่มา: ไอเวิร์คพีอาร์