อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนภาคใต้ มุ่งลดปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ด้วยการส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว โดยทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ใน 6 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ซึ่งส่วนมากเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมงานพัฒนาสังคม และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงแกนนำชุมชน ที่ต่างมีภาระอันหนักหน่วงในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เชฟรอนและมูลนิธิแพธทูเฮลท์จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งกำลังใจ ความห่วงใย และคำขอบคุณ ผ่าน 'กล่องห่วงใยจากใจ เชฟรอน และ P2H' อันประกอบด้วย ยาฟ้าทะลายโจร หน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ น้ำมันเขียวย่านาง จมูกข้าวสังข์หยด ชากระชายขาว น้ำผึ้งดอยคำ หมี่โคราช ชุดอุปกรณ์อาบน้ำ กระเป๋าผ้า และคู่มือดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่พักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน"
นายชูไชย นิจไตรรัตน์ หัวหน้าโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนภาคใต้ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) กล่าวว่า "ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงการฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การสร้างทีมทำงานในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพของวิทยากรกระบวนการ รวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมอบรมและกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ต่างๆ โดยได้ปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการทางออนไลน์เพื่อร่วมกันพัฒนาการบริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน และเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันจากโรคโควิด-19 ที่สำคัญได้ถือโอกาสนี้พัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เช่น ปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ ประสานงานกับหน่วยงานนโยบายต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนและวางแนวทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งนี้ การมอบกล่องห่วงใยฯ ไม่เพียงเป็นการส่งความระลึกถึง และคำขอบคุณ ไปยังภาคีที่มีส่วนในการขับเคลื่อนโครงการฯ แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย พวกเราจะกลับมาร่วมกันทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้ลูกหลานได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและเติมเต็มศักยภาพของตนเองอีกครั้ง"
อนึ่ง โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน เป็นโครงการที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2559 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 รวมมูลค่ากว่า 19.5 ล้านบาท โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ได้แก่ ครู แพทย์ วิทยากรพ่อแม่ เยาวชนแกนนำ ศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชน อสม. บริการจิตสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น คณะทำงานระดับจังหวัด และสื่อมวลชน เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ด้วยการส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว โดยในระยะแรกได้เริ่มดำเนินโครงการที่จังหวัดสงขลา ก่อนนำบทเรียนความสำเร็จไปปรับใช้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และขยายโมเดลการขับเคลื่อนในอีก 4 จังหวัด ได้แก่ พังงา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ โดยในปัจจุบัน โครงการประสบผลสำเร็จในฝึกอบรมแกนนำเยาวชน 590 คน ที่ส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนๆ ได้กว่า 10,300 คน มีวิทยากรด้านครอบครัว 510 คน ซึ่งอบรมพ่อแม่ไปแล้วเกือบ 7,900 คน และให้การช่วยเหลือเยาวชนที่เผชิญปัญหา 258 คน
ที่มา: เวเบอร์ แชนด์วิค