ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAPPE กล่าวว่า เซ็ปเป้ได้เตรียมพร้อมรับเทรนด์กัญชงโดยได้ลงนามความร่วมมือและบันทึกข้อตกลง (MOA) ร่วมกับ บจ.ไทย เฮมพ์ เวลเนส ในโครงการส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการช่วยสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงราย โดยเป็นความร่วมมือสนับสนุนการลงทุนสำหรับต้นกล้ากัญชง ปุ๋ยอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์คุณภาพสูง เพื่อเพิ่มผลผลิต พร้อมจัดทีมนักวิชาการให้คำแนะนำการปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย กับเกษตรกร รวมไปถึงรับซื้อผลผลิตและจะนำผลผลิตที่ได้สกัดเป็นสาร CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) และจะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในอนาคต โดยก่อนหน้านี้เซ็ปเป้ได้ทดลองออกผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นเทอร์ปีน แบรนด์เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ กรีน รีแล็กซิ่งคาล์ม (Green Relaxing Calm) นำเอากลิ่นเทอร์ปีนซึ่งเป็นกลิ่นลักษณะเดียวกับในใบกัญชามาใช้เป็นส่วนผสม ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีพอสมควร คาดว่าหลังจากที่กฎหมายปลดล็อกให้ใช้สารสกัดจากกัญชา-กัญชงแล้ว จะมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ มาเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น สร้างกระแสให้ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มกลับมาคึกคัก ตอบรับการผ่อนคลายมาตรการช่วงโควิดด้วย
ด้านดร.เสฐียรพงศ์ แก้วสด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย เฮมพ์ เวลเนส จำกัด กล่าวว่า การจัดงานปลูกกัญชงต้นแรก 1,600 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายครั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ทราบแนวทางการผลักดันของภาคธุรกิจ โดยตอนนี้กลุ่มพืชที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ถูกต้องตามกฎหมายมี 2 ชนิด คือ 1.กัญชง มี สาร CBD สูง 2.กระท่อม ซึ่งภาครัฐให้การปลดล๊อกเมื่อเร็วๆ นี้ สามารถสกัดทำเป็นรูปแบบของเครื่องดื่มได้ แต่ยังต้องวิจัยและศึกษาสารสกัดเพิ่มเติม โดยเซ็ปเป้เป็นหนึ่งในภาคเอกชน ที่ลงนาม MOA เพื่อใช้สารสกัดในการผลิตสินค้ากับทางบริษัท ซึ่งอยู่ในกระบวนการผลิตสารสกัดเพื่อส่งมอบให้ ทั้งนี้ พื้นที่ จ.เชียงราย ถือเป็นแห่งแรกที่มีการปักหมุดเพื่อปลูกต้นกัญชงในเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทมีแผนจะส่งเสริมการปลูกในช่วงแรก 1,600 ไร่ จากนั้นภายใน 5 ปีจะเพิ่มให้เป็นประมาณ 100,000 ไร่ เกษตรกรปลูกได้ 2 ครั้ง/ปี ใช้เวลาเพาะปลูก 4 เดือน ก็สามารถเก็บผลิตส่งจำหน่ายให้บริษัทไทยเฮมพ์ เวลเนส จำกัด เพื่อนำไปสกัดสาร CBD ส่งต่อให้กับเอกชนต่อไป จึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ชุมชน และองค์กรธุรกิจของไทยได้เป็นอย่างดี
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย