สพฐ. - สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ผสานความร่วมมือ ผลักดัน "โครงการ Collaborative Assessment" มุ่งยกระดับศักยภาพสถานศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ

พฤหัส ๒๓ กันยายน ๒๐๒๑ ๐๘:๐๖
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ใน โครงการ Collaborative Assessment ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพองค์กรในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ให้เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นเลิศตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA)

เมื่อโลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง บ่อยครั้งที่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นนำไปสู่สถานการณ์ที่ยากลำบาก กลายเป็นความท้าทายให้องค์กรต้องเร่งปรับตัวจากวิกฤตต่าง ๆ การพัฒนาศักยภาพ และกระบวนการภายในองค์กรให้เปี่ยมด้วยผลิตภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะองค์กรภาคการศึกษาในระดับพื้นฐานอย่าง โรงเรียน ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ ขัดเกลาเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ สถานศึกษา ต้องอาศัยองค์ความรู้ และหลักการในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมความพร้อมของตนเองในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

การผลักดันให้มี โครงการ Collaborative Assessment จึงเกิดขึ้นพร้อมกับความมุ่งหวังของ สพฐ. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษาไทยในเชิงลึก และยกระดับพัฒนาการ Maturity ให้มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ทั้งนี้ สพฐ. ได้คัดเลือกสถานศึกษาในสังกัด จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต เพื่อวางแผน และส่งเสริมสถานศึกษาดังกล่าวให้มีความพร้อม และสามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาสถานศึกษาไทยสู่ระดับสากล ภายใต้ความร่วมมือจาก สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ องค์กรที่มีบทบาทในการเผยแพร่ และผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ไปพัฒนาศักยภาพระบบการบริหารจัดการ โดยมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อจัดทำแผนปรับปรุงสถานศึกษา รวมถึงการนำทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจประเมินสถานศึกษา ควบคู่กับการนำเสนอวิธีการปฏิบัติ และผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ รวมถึงคำแนะนำในการปรับปรุง ตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

นายอธิศานต์ วายุภาพ  ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ว่า "รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลสูงสุด ในการวัดระดับคุณภาพของระบบการบริหารจัดการองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับ เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินตนเองขององค์กร ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็น องค์กรภาครัฐ หรือภาคเอกชน

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์กรภาคการศึกษา เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรสู่ตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากการขับเคลื่อนประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศนั้น ต้องพัฒนาด้านการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้ทุกระบบขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีต้นแบบขององค์กรภาคการศึกษาในระดับพื้นฐาน ที่นำเกณฑ์มาใช้พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และมุ่งสู่อนาคต จะช่วยเป็นตัวอย่าง และแรงบันดาลใจให้แก่สถานศึกษาต่าง ๆ ในการพัฒนาปรับปรุง และมีมุมมองที่เป็นสากลในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการ Collaborative Assessment การพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ในภาคการศึกษาระดับพื้นฐานในครั้งนี้"

พร้อมกันนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังเสริมย้ำถึงเป้าหมายที่มุ่งมั่นของการดำเนินโครงการ Collaborative Assessment ภายใต้ความร่วมมือของสองหน่วยงานว่า "สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการพัฒนาโรงเรียน โดยใช้ยุทธศาสตร์ สพฐ. วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ ซึ่ง 3 โรงเรียนที่ได้รับโอกาสในการคัดเลือกมาร่วมโครงการนี้ เป็นการตอบโจทย์ที่ตรงเป้าหมาย และจุดประกายการต่อยอดการพัฒนาไปสู่สมรรถนะในการแข่งขันระดับนานาชาติ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอขอบคุณสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ที่ริเริ่มโครงการในลักษณะการให้คำปรึกษาเชิงลึก และมีแนวทางให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้ง 3 โรงเรียน จะเป็นต้นแบบของโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ"

เพราะการศึกษา คือ กลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความก้าวหน้า ในสถานศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกต่างก็มีการปรับใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศตนเองในการพัฒนาการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ สามารถบรรลุตามภารกิจ และเจตนารมณ์ตามที่คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นรางวัลต้นแบบอย่าง The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีสถาบันการศึกษาระดับโรงเรียนที่ได้รับรางวัล ถึง 8 โรงเรียน แสดงให้เห็นว่า การนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้กับองค์กรภาคการศึกษานั้นไม่ใช่สิ่งไกลตัวหรือเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

ที่มา: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ