พลังการตรวจสอบของผู้บริโภคสื่อ สะท้อนการขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมของสื่อมวลชนในการสื่อสารยุคดิจิทัล

พฤหัส ๒๓ กันยายน ๒๐๒๑ ๑๕:๒๗
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเสวนาออนไลน์ ประเด็น "การสื่อสารยุคดิจิทัลด้วยประเด็นคุณธรรมจริยธรรมของสื่อมวลชน" ผ่านระบบ Zoom และ Facebook Live ศูนย์คุณธรรม โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม  (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศูนย์คุณธรรมเปิดประเด็นเรื่องของคุณธรรมในลักษณะแบบ Open มากขึ้นตามยุคสมัย ซึ่งจะพูดถึงเรื่องของพฤติกรรมที่ดี แล้วแต่ยุคสมัยว่าจะตีความกันอย่างไร เรื่องคุณธรรมจะฝังลึกเพราะแม้เปลี่ยนระบบนิเวศก็ยังคงประพฤติปฏิบัติอยู่ ส่วนจริยธรรมคือการที่ตกลงกัน เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและมีข้อตกลงใด ๆ เกิดขึ้น บนข้อตกลงดี ๆ นั้นก็สามารถเป็น Code of Conduct ได้ ต่อให้ต่าง generation กัน ก็สามารถสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันได้ ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่โดยเฉพาะให้กับ Social Media หรือมิติทางด้านสังคม ขณะเดียวกันการที่จะทำอย่างไรให้ได้ยกระดับคุณภาพพลเมืองให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในแง่พื้นที่ของ Social Media หากช่วยกันดูแล ให้นำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันโดยไม่ทำร้ายกัน ดังนั้น จึงอยากจะเชิญชวนว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ เวลาที่เราพูดถึงธุรกิจ เราจะพูด CSR ซึ่งเป็นการคืนกำไรให้กับประชาชนในพื้นที่ และจะเกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนต่างวัย ต่างgeneration เช่น การเกิด Open my Set เกิดรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งพื้นที่แบบนี้สำหรับประชาชนยังมีน้อย

"มีคำพูดเล็ก ๆ อย่างหนึ่งว่า สื่อมวลชนมีพลังในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้ แต่สื่อมวลชนจะต้องช่วยกันทำให้เป็นแรงเสริมบวกของสังคม ไม่ใช่แรงเสริมลบของสังคม รวมไปจนถึงประชาชนทุกคนที่ต้องมีจิตสำนึก เพราะว่าวันนี้ทุกท่านสามารถใช้ Social Media สร้างข่าวขึ้นมาได้ ถ้ามันผิดจากหลักการที่พูดถึง คือ ไม่เคารพกฎหมาย สร้าง Fake News ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรมทั้งหมดที่พูดถึงขึ้นมาเท่ากับว่าเราไม่ได้ใช้หัวใจของความเป็นคุณธรรมในตัวเราเอง และในบ้านเมืองที่มีกฎเกณฑ์ กติกา หรือแม้แต่ในองค์กรที่มีจริยธรรม หากเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น" รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนักวิชาการ ด้านสื่อมวลชน กล่าวว่า นิยามจริงๆ ของคำว่าสื่อ อาจไม่สามารถแบ่งออกได้อย่างชัดเจน ด้วยความที่หลายคนบอกว่าทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ แต่ก็จะมีบางส่วนที่อาจจะตั้งคำถามว่า อาชีพของสื่อมวลชนยังมีเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะบางคนอาจมีอาชีพสื่อแต่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ อย่างหลายๆ ครั้งในการนำเสนอที่ปราศจากการไตร่ตรองโดยรอบคอบ แต่กับคนธรรมดาที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่มีการคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องก่อน ก็ถือว่าเขาเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้มีอาชีพหลักเป็นสื่อมวลชน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสามารถมีพลังมากขึ้นในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร โดยส่วนตัวจึงไม่ได้คาดหวังว่าสื่อจะสามารถดิ้นรนออกมาจากบ่วงของเรตติ้ง และยึดหลักการ Code of Conduct ดังนั้น พลังของการตรวจสอบของผู้บริโภคในวันนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมของสื่อมวลชน ซึ่งคุณธรรม จริยธรรมของสื่อมวลชนไม่ได้เกิดเองโดยความเป็นคนดี และจะต้องนำเสนอตาม Code of Conduct เพียงอย่างเดียว แต่การที่เขาจำเป็นต้องนำเสนอนั้น ส่วนหนึ่งคือพลังของผู้บริโภคสื่อจับตาและจ้องมองอยู่

ดร.มานะ กล่าวทิ้งท้ายว่า พลังที่มากกว่าเรตติ้งเอง ก็คือเจ้าของสื่อ หรือคนที่กำกับนโยบายของสื่อนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อทีวี หรือสื่ออื่นๆ ซึ่งหากเจ้าของสื่อปักธงในบางเรื่องไว้ ต่อให้สื่อมวลชนในฐานะคนธรรมดารู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้องตามเชิงจริยธรรม แต่เจ้าของสื่อไม่ยอม ก็ยิ่งทำให้คนทำงานสื่อหลายคนอึดอัดใจ ประเด็นนี้จึงสำคัญที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน เพราะเรามักจะพูดกันในแง่ของเรตติ้ง ซึ่งน่าเห็นใจอยู่พอสมควรที่นอกจากจะต้องบาลาซการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้อยู่ในเชิงของจริยธรรม จรรยาบรรณของตัวเองแล้วนั้น ยังถูกกดดันในเชิงของเรตติ้งของตัวเอง

คุณมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นิยาม สื่อมวลชน ยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเทคโนโลยี เพราะขณะนี้ทุกคนสามารถใช้มือถือในการส่งข่าวสารชิ้นเดียวพร้อมกันไปยังสาธารณชนได้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารจากบุคคลที่มีอาชีพสื่อ หรือไม่ได้มีอาชีพสื่อ โดยปกติแล้วจะสื่อสารด้วยความรู้สึก การมีส่วนร่วมในสังคมที่จะสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรม หรือต้องการความช่วยเหลือในสังคม ซึ่งเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบในเชิงของคุณธรรมจริยธรรมที่มีต่อสังคม มันรุนแรงและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าสมัยก่อน ดังนั้น การกระชับมุมมองเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม ต้องไม่ลืมว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังคงมีพื้นฐานปัจจัยในการดำรงชีวิตร่วมกัน ยังต้องการอากาศ น้ำ อาหาร ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ต้องการข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ถูกหลอกลวง โดยส่วนตัวมองว่า ไม่ว่าจะต่างวัย หรือบริบทสังคมจะต่างกันอย่างไร แต่จริง ๆ สังคมก็ยังต้องการคุณธรรมจริยธรรมต่อผู้ที่ส่งข่าวสารสู่สังคม ซึ่งจะช่วยสะท้อนสังคมให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

คุณมงคล ยังกล่าวอีกว่า สื่อยังคงมีอิทธิพลและสร้างผลกระทบมากกว่าเดิมหากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน โดยมี 4 เรื่องที่คิดว่าส่งผลกระทบ คือ 1. คงทนกว่า : สิ่งที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ที่สามารถสืบค้นได้ง่ายและสะดวก 2. ส่งผลเร็วและแรงกว่า : นำมาซึ่งพลังความรู้สึกร่วมของสังคมสูงมากและรุนแรงมาก 3. ดูน่าเชื่อถือกว่า : โดยเฉพาะผ่านคลิปวิดีโอที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนมักจะมองและตัดสินเพียงเฉพาะคลิปในช่วงเวลาบางช่วงที่ถูกตัดเผยแพร่ออกมา จนลืมไปว่า เหตุการณ์ก่อนและหลังคลิปหากดูตั้งแต่ต้นจนจบอาจมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งปรากฎอยู่ และ 4. บิดเบือนง่ายกว่า

นอกจากนี้ ไม่ใช่แม้แต่องค์กรสื่อ นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน หรือองค์กรมหาชน ที่จะมาพูดถึงเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม แต่ประเด็นนี้สมควรที่จะล้อมวงพูดคุยกัน ว่าขอบเขตคุณธรรมจริยธรรม ที่เคยยอมรับกันมาในสมัยหนึ่ง พอเวลาผ่านไปอาจจะต้องมาพูดคุยกันในบางประเด็นที่อาจจะทำให้เข้มแข็งมากขึ้น อย่างประเด็นการนำเสนอเนื้อหาของน้องไข่เน่า กับระบบ Onlyfans ก็จะมีมุมของการพูดถึงสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพในประเด็นของร่างกายด้วย หรือมุมของธุรกิจที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์จากประเด็นนี้ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกลับมาที่เยาวชนได้ด้วยเช่นกัน โดยแต่ละมุม ก็เป็นมุมที่หวังดีต่อสังคม เพียงแต่อาจจะต้องหาจุดที่เหมาะสมลงตัว คุณมงคล กล่าว

คุณณัฐกร เวียงอินทร์ บรรณาธิการ The People กล่าวว่า สิ่งสำคัญในคำว่าคุณธรรมจริยธรรม มีคำหนึ่งที่ใช้แทนกันได้ก็คือ จรรยาบรรณาสื่อ ซึ่งควรจะมีแกนกลางหรือแนวปฏิบัติร่วมกันในพื้นฐานกว้าง ๆ ยกตัวอย่าง ต่อให้เราดีเบตกันอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ยอมรับกันไม่ได้เลยในสื่อก็คือ Fake news หรือแม้แต่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยได้ให้ทัศนะถึง 3 ประเด็นใหญ่ๆ ในภาพของจริยธรรมสื่อที่สะท้อนผ่านการสื่อสารสมัยใหม่ กับ บทบาทของผู้อ่านที่เปลี่ยนไป โดยประเด็นแรก เห็นได้จากการกำหนดวาระข่าวต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า อำนาจในการกำหนดวาระไม่ได้อยู่ที่คนทำงานสื่ออีกต่อไปแล้ว แต่จะไปอยู่ที่มวลชน ประชาชน คนจะดูว่าเทรนด์ทวิตเตอร์ตอนนี้เขาพูดถึงอะไร ดูกูเกิ้ลเทรนด์ว่าคนกำลังสนใจอะไร ซึ่งเป็นเรื่องของเรตติ้งว่าคนนิยมหรือสนใจเรื่องอะไร ประเด็นที่สอง การสื่อสารระหว่างคนทำสื่อ (Content Creator) กับผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านจะช่วยกำกับการโพสต์เนื้อหาของสื่อ เช่น กรณีมีเคสลงข่าวผิด ภาพไม่เหมาะสม จะมี Feedback กลับมาอย่างรวดเร็วจากผู้อ่าน และจะเห็นได้ชัดว่าบทบาทของผู้อ่านเปลี่ยนไป ซึ่งส่วนตัวมองว่า ข้อเท็จจริง (Fact) กับ ความคิดเห็น (Opinion) มีความสำคัญทั้งคู่ เพียงแต่ในมุมของคนทำคอนเทนต์จะต้องเคลียร์เรื่องข้อมูลก่อน ว่าถูกต้องหรือไม่ จึงจะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพูดคุยกันในเรื่องของความคิดเห็น ว่ามุมมองหรือประเด็นที่นำเสนอไป สังคมจะตามทันกับวิธีคิดแบบนี้หรือไม่อย่างไร เป็นต้น ประเด็นสุดท้าย คำว่า เรตติ้ง กับ จรรยาบรรณ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน เรตติ้งนั้นสำคัญ แต่จะมีวิธีการทำงานอย่างไรบนพื้นฐานของคำว่า จรรยาบรรณาควบคู่ไปด้วย โดยอาจจะต้องบาลาซให้ได้ เพราะสิ่งนี้สะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน

ที่มา: ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ