ชาวกรุงเทพคริสเตียน (BCC) ร่วมใจจัดกิจกรรมช่วยสังคมต้านภัยโควิด ในโอกาสครบรอบการก่อตั้งโรงเรียน BCC 169 ปี รร.เอกชนแห่งแรกของไทย

พุธ ๒๙ กันยายน ๒๐๒๑ ๑๖:๓๑
เนื่องในวันที่ 30 กันยายน 2564 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (B.C.C.) โรงเรียนเอกชนชายแห่งแรกของประเทศไทย จะครบรอบการก่อตั้งโรงเรียน 169 ปี นายประพันธ์ ปุษยไพบูลย์ นายกสมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยว่า เนื่องในวันสำคัญของโรงเรียนอันเป็นที่รักยิ่งของทุกคน ในปีนี้ทางสมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ร่วมกับ สมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รวมทั้งคณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันจัดโครงการ "B.C.C. ครบรอบ 169 ปี ร่วมใจช่วยเหลือสังคม ต้านภัยโควิด" ในช่วง 30 กย. - 4 ธค.นี้ เพื่อมอบเงิน อาหารและสิ่งของทางการแพทย์ต่างๆ ให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด 19 ในโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งการบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.เทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และ รพ.ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 11 แห่ง ขอเชิญศิษย์เก่าทุกคนและผู้มีจิตศัทราร่วมบริจาคได้ที่ ธ.กรุงไทยฯ เลขที่บัญชี 660-9-55548-6 ชื่อบัญชี กิจกรรม B.C.C. ครบรอบ 169 ปี ร่วมใจช่วยเหลือสังคมต้านภัยโควิด

จุดเริ่มต้นของ รร.เอกชนต้นแบบแห่งแรกของไทย

ถ้าจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นระบบการศึกษาไทยหรือสยาม ต้องขอย้อนไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่ได้รับโอกาสเรียนหนังสือที่วัด แม้ผู้นำบ้านเมืองเริ่มสนใจจะจัดให้มีโรงเรียนเหมือนประเทศที่เจริญแล้วแต่ก็ไม่รู้จะดำเนินการอย่างไรเพราะสมัยนั้นไม่มีใครรู้เรื่องการจัดการศึกษาสมัยใหม่ กระทั่ง ค.ศ. 1847 ในปลายรัชการที่ 3 มิชชันนารีชาวอเมริกัน คณะเพรสไบทีเรียน คือศาสนาจารย์ นพ.ซามูเอล เรโนลด์เฮ้าส์ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมคตูน และภรรยาเดินทางเข้ามาในประเทศสยาม เพื่อประกาศเรื่องราวความรักของพระเยซูคริสต์ และยังนำวิทยาการใหม่ๆมาด้วยแม้การเดินทางเต็มด้วยความยากลำบากและใช้เวลาถึง 8 เดือน เริ่มแรกท่านมาอาศัยอยู่ที่กุฎีจีนร่วมกับมิชชันนารีคณะอื่นบริเวณปากคลองบางหลวง ต่อมา ค.ศ.1849 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ดินบริเวณใกล้วัดอรุณราชวรารามที่เรียกว่า "กุฎีจีน" น.พ.เฮ้าส์และศาสนาจารย์แมตตูนได้จัดตั้งโรงเรียนประจำสำหรับเด็กผู้ชาย เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1852 สอนเป็นภาษาจีน ซินแสกีเอ็ง เป็นครูใหญ่ ระยะแรกต้องให้ค่าจ้างเด็กมาเรียนวันละ 1 เฟื้อง

ด้วยความมุ่งมั่นอดทนและความสามารถในทางวิทยาการใหม่ๆ บรรดามิชชั่นนารีจึงได้รับการยอมรับและการสนับสนุนงานทั้งจากชาวบ้าน พระราชวงศ์และข้าราชการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเจ้านาย 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าใหญ่ ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมีความตั้งใจจะหาที่ทำการเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีอเมริกันที่กุฎฎีจีนซึ่งเป็นชนต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยเป็นกรรมสิทธิ์ได้ ใน ค.ศ.1857 จึงได้ซื้อที่ดินและย้ายที่ทำการ รวมทั้งโรงเรียนไปที่สำเหร่ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนสำเหร่บอยส์สกูล"

ต่อมาเปลี่ยนการสอนเป็นภาษาไทย วิชาที่เปิดสอนมีปรัชญา เลขคณิต ภูมิศาสตร์ การแต่งความ และดาราศาสตร์ ช่วงเวลามีหลายคนสมัครเรียนภาษาอังกฤษกับมิสซิสแมตตูน มาถึงสมัย ศาสนาจารย์ จอห์น เอ.เอกิ้น โรงเรียนเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล" เป็นโรงเรียนแบบตะวันตกแห่งแรกในประเทศไทย มีหลักสูตรชัดเจนว่าสอนวิชาอะไรบ้าง มีกำหนดวันเวลาเรียนเป็นตารางสอน มีการสอนโดยครูอาชีพที่รับเงินเดือน และมีระบบการจัดการโรงเรียน จึงแตกต่างจากการศึกษาของไทยที่มีอยู่แต่เดิมซึ่งจัดในวัด วัง หรือบ้าน โรงเรียนคริสเตียนบอยสกูล ดำเนินงานมาด้วยดี และเริ่มพบว่าถึงเวลาที่ต้องขยายกิจการให้กว้างขวางขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ ศาสนาจารย์ จอห์น เอ.เอกิ้น จึงพยายามหาที่ดินแห่งใหม่ในทำเลที่เหมาะสมกับการขยายโรงเรียนในอนาคต ค.ศ.1990 มีการติดต่อขอซื้อที่ดินบริเวณถนนประมวญ สีลม เจ้าของที่ดินคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของศาสนาจารย์จอห์น เอ.เอกิ้น ในราคา 17,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระยาสารสิน ศิษย์เก่าของโรงเรียนสำเหร่ในการติดต่อซื้อที่ดินดังกล่าว ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ 20 ชั่ง (ประมาณ 1,600 บาท) รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่าน รวมทั้งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีบริจาคให้ 2,500 บาท นอกจากนี้ยังได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาในประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 10,000 เหรียญ ค.ศ.1902 จึงได้ย้ายโรงเรียนมาที่ถนนประมวญ ใช้ชื่อ "โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย''ในที่สุด นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ใช้ระบบการเรียนการสอนแบบสากล พัฒนานักเรียนตามแบบพระเยซูคริสต์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ในปี ค.ศ. 1913 คณะกรรมการของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่สหรัฐอเมริกา  มีมติให้ยกระดับของโรงเรียนไฮสกูล ( High School ) ขึ้นเป็นคอลเลจ (College) ชื่อโรงเรียนจึงได้รับการเปลี่ยนเป็น "กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" (Bangkok Christian College )  และใช้อักษรย่อว่า BCC ต่อมาในปี ค.ศ. 1920 โรงเรียนได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้มีวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล

เมื่อ ค.ศ.1936 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งทรงยศเป็น พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้ทรงพระราชทานเงิน 3,000 บาทให้โรงเรียนเพื่อใช้ปรับปรุงยกระดับสนามฟุตบอลโรงเรียนให้สูงขึ้น นอกจากนี้ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนส่งครูชาวต่างประเทศมาสอนในประเทศไทยที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คืออาจารย์เฮนรี่ เอช.บูเกอร์

ในวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร จอห์น เอ. เอกิ้น ทรงเยี่ยมชมหอประวัติศาสตร์ ยังความปลื้มปีติแก่ชาวบีซีซีเป็นอย่างยิ่ง

169 ปี BCC มุ่งผลิตบุคคลากรที่ดีมีคุณภาพให้ประเทศชาติ

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมี ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติและสังคมไทยจำนวนมาก อาทิ นายพจน์ สารสิน นายอานันท์ ปันยารชุน พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ศ.พิเศษเรวัต ฉ่ำเฉลิม นายกมล วรรณประภา พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายยศ เอื้อชูเกียรติ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ พล.อ.อ.อภิสิทธิ์ จุลโมกข์ นายอมเรศ ศิลาอ่อน นายเฉลิม เชี่ยวสกุล นายสุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ นายวิทย์ รายนานนท์ นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ดร.วิจิตร สุพินิจ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ศ.กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ นายณัฐ ยนตรรักษ์ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ นายบุญชัย-นายสมชาย เบญจรงคกุล นายอัมรินทร์ สิมะโรจน์ นายกฤษดา สุโกศล แคลปป์ นายโชคชัย บูลกุล นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ นายมนูญ พุฒทอง นายเฉลิมพล โชตินุชิต ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง พล.ร.ต.นพ.ณัฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดร.ประดิษฐ์ อารยการกุล เป็นต้น

นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1852 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้สมฐานะของโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดการศึกษาตามระบบนานาอารยประเทศ มุ่งรักษาภาพลักษณ์ของความเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีคุณภาพทางวิชาการชั้นแนวหน้า ส่งเสริมคุณภาพทางกิจกรรมด้านกีฬา ดนตรี และได้สร้างทัศนคติที่ดีและสภาพแวดล้อมที่มีความสุขตลอดมา

ที่มา: คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version