ปัจจุบัน มีผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างรับผิดชอบ หลายๆ คนต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการแยกขยะ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่มีเวลานำขยะไปส่งร้านรับซื้อ ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเป็นพลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต ควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นที่จะเติบโตคู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน โอสถสภาได้ตระหนักถึงอุปสรรคดังกล่าวและพร้อมจะร่วมเป็นพลังสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะที่ต้นทาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลดปริมาณขยะและนำขยะที่รีไซเคิลได้กลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โอสถสภาเล็งเห็นถึงพลังสำคัญของชุมชนในการลดผลกระทบจากการดำเนินชีวิตต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ริเริ่มโครงการ "โอสถสภา รักษ์ชุมชน รักษ์สิ่งแวดล้อม" ส่งเสริมให้ชุมชนแยกขยะ เพื่อนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยมอบอุปกรณ์สำหรับแยกขยะ พร้อมส่งพนักงานจิตอาสาเข้าไปให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการแยกขยะแก่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจในการแยกขยะอย่างถูกต้อง
ไม่เพียงแต่การสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะในครัวเรือนเท่านั้น โครงการฯ ยังครอบคลุมถึงการจัดเก็บขยะและนำขยะเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ โอสถสภาได้จัดหาอุปกรณ์ในการเก็บขยะที่มีมาตรฐานและช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ผู้ประกอบอาชีพเก็บขยะหรือซาเล้งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ หลังจากที่ครัวเรือนแยกขยะแล้ว จะนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ใส่ในถังขยะที่ได้รับจากโครงการฯ เพื่อให้ซาเล้งสามารถเก็บได้อย่างสะดวก จากนั้นซาเล้งจะทำหน้าที่รวบรวมขยะนำส่งร้านรับซื้อขยะที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อนำขยะเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามความเหมาะสมของขยะแต่ละประเภท โดยจะนำขวดแก้วที่ใช้แล้วส่งไปที่ศูนย์รีไซเคิลของโอสถสภา เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้วใหม่ ซึ่งปัจจุบันโอสถสภาใช้เศษแก้วเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตขวดแก้ว ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ทราย ในการผลิตได้สูงถึงร้อยละ 90 นอกจากการส่งเสริมให้แยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว โครงการฯ ยังรณรงค์ให้ชุมชนจัดการแยกขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี โดยใส่ในถุงพร้อมมัดปากถุงให้มิดชิด และแยกใส่ถังขยะติดเชื้อที่ทางโครงการได้มอบให้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ชุมชนและซาเล้งที่เก็บขยะ
ขยะรีไซเคิลนั้น นอกจากจะมีมูลค่าต่อกระบวนการรีไซเคิลแล้ว ยังมีคุณค่าต่อชุมชนอีกด้วย ทุกครั้งที่ซาเล้งของโครงการฯ รับขยะจากแต่ละบ้าน จะมีการจดบันทึกปริมาณขยะที่ได้รับบริจาค เพื่อให้เจ้าของบ้านนำมาเปลี่ยนเป็นแต้มสะสมสำหรับแลกรับผลิตภัณฑ์ของโอสถสภา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังร่วมสมทบทุนจำนวน 50 สตางค์ สำหรับขวดแก้วทุกๆ 1 กิโลกรัมที่ส่งกลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำไปสร้างสาธารณประโยชน์หรือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส จึงอาจกล่าวได้ว่า โครงการนี้ช่วยให้คนในชุมชนมีความภูมิใจที่ได้ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม มีความสุขจากการได้แบ่งปันผ่านการบริจาคขยะให้แก่ซาเล้ง และจากการที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนของตนและสังคมอีกด้วย
ป้าทิพย์ ซาเล้งซึ่งเข้าร่วมโครงการ เล่าว่า "ป้าเก็บขยะแถวนี้มากว่า 30 ปีแล้ว เวลาที่เก็บขยะ จะเห็นเลยว่ามีขยะที่สามารถเก็บไปรีไซเคิลได้เยอะ แต่พอพวกกระดาษ ขวดต่างๆ ถูกทิ้งรวมกับขยะเปียก ก็เก็บไม่ได้ ป้าเลยอยากชักชวนให้ทุกคนแยกขยะกัน เราจะได้มีขยะไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากขึ้น"
นายสมศักดิ์ ช้างทอง หัวหน้าชุมชนในซอยหัวหมาก 28 กล่าวว่า "ทางชุมชนไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เลย เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ หลายๆ บ้านดีใจมาก เพราะเค้าอยากแยกขยะกัน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี พอทางโครงการมีอุปกรณ์มาให้ มีคนมาแนะนำ มีการติดต่อประสานงานกับซาเล้งให้ ก็ช่วยให้สามารถทำตามความตั้งใจที่อยากช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมกันได้"
โครงการ "โอสถสภา รักษ์ชุมชน รักษ์สิ่งแวดล้อม" ได้เริ่มนำร่องกับชุมชนรอบข้างสำนักงานใหญ่ ย่านหัวหมาก หลังจากนั้น จะขยายโมเดลเพื่อขยายความสุขไปยังชุมชนอื่นๆ รอบสำนักงานและโรงงานอื่นๆ ของโอสถสภา ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
การแยกขยะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทุกคนสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายๆ เพียงคิดแยกก่อนทิ้งให้เป็นนิสัย โอสถสภาภาคภูมิใจที่ได้ร่วมปลูกพลังสีเขียว สร้างชุมชนที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้แก่ซาเล้ง และสร้างความสุขในชุมชน และขอเชิญชวนคนไทยให้หันมาคัดแยกขยะภายในครัวเรือน เพื่อเปลี่ยนขยะที่มีมูลค่าซ่อนอยู่ ให้เป็นความสุขของชุมชน
ที่มา: โอสถสภา