ตอบทุกเรื่องบัตรเครดิต ใช้อย่างไร ให้ปลอดภัย คุ้มค่า

อังคาร ๐๕ ตุลาคม ๒๐๒๑ ๑๐:๕๐
ยุคสังคมไร้เงินสดเช่นทุกวันนี้ บัตรเครดิต นับเป็นตัวเลือกที่สะดวก สำหรับคนที่อยากจะหลีกเลี่ยงการใช้เงินสด ลดการสัมผัส แต่จะใช้บัตรเครดิตอย่างไร จึงจะคุ้มค่า ปลอดภัย และใช้อย่างไรจึงจะเรียกว่าใช้ถูกวิธี วันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ จากคุณอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย
  • ควรเลือกบัตรแบบไหน?
    บัตรเครดิตที่ดีที่สุด คือบัตรที่ตอบสนองวิถีการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของเรามากสุด ดังนั้นควรเลือกบัตรที่มอบสิทธิประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการในการใช้จ่ายของเรามากที่สุด เช่น สายกิน ก็ควรเลือกบัตรที่โดดเด่นในเรื่องโปรโมชั่นเกี่ยวกับร้านอาหารและ/หรือบริการส่งอาหาร เช่น มีส่วนลดหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ ส่วนสายช้อป ก็ควรเลือกบัตรที่มอบส่วนลด เครดิตเงินคืน แลกคะแนนสะสมพิเศษ หรืออื่นๆ ที่ร้านหรือห้างสรรพสินค้าที่ตัวเองชอบไปช้อป เป็นต้น
  • ควรมีวงเงินเท่าไร ขอวงเงินเพิ่มได้ไหม
    ปกติผู้ให้บริการบัตรเครดิตมักพิจารณาอนุมัติวงเงินจากรายได้ของผู้สมัครเป็นหลัก ส่วนมากจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 - 3 เท่าของรายได้ ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงเครดิตทางการเงินของผู้สมัครด้วย กรณีที่เป็นสมาชิกบัตรเครดิตนั้นๆ มานาน มีประวัติการชำระเงินที่ดีสม่ำเสมอ ทางสถาบันผู้ออกบัตรก็อาจพิจารณาเพิ่มวงเงินให้เป็นระยะๆ หรือหากผู้ถือบัตรอยากได้วงเงินเพิ่ม เมื่อมีรายได้สูงขึ้น ก็สามารถติดต่อธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อขอปรับเพิ่มวงเงินได้ โดยอาจต้องยื่นเอกสารแสดงรายได้ประกอบเพิ่มเติม
  • เป็นฟรีแลนซ์ทำบัตรเครดิตได้ไหม
    อันที่จริงผู้ให้บริการบัตรเครดิตทุกรายอยากได้ลูกค้าใหม่เสมอ แต่ในการพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากบัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อไร้หลักประกัน จึงจำเป็นต้องควบคุมบริหารความเสี่ยงและพิจารณาจากเครดิตทางการเงิน เช่น เป็นพนักงานประจำที่มีรายได้รายเดือนที่มั่นคง ไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ก็จะมีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติมากขึ้น สำหรับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นเจ้าของกิจการ สามารถสมัครบัตรเครดิตได้เช่นกัน โดยต้องมีหลักฐานแสดงรายได้ประกอบ เช่น รายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน ว่ามีรายได้สม่ำเสมอ เป็นประจำทุกเดือน หรือหลักฐานใบจดทะเบียนบริษัทว่าเป็นเจ้าของกิจการที่มีรายได้ประจำหรือมีเงินฝากตามเกณฑ์ที่กำหนด หากผ่านเกณฑ์อนุมัติที่แต่ละสถาบันการเงินผู้ออกบัตรแต่ละแห่งกำหนดไว้ได้ ก็ย่อมได้รับการอนุมัติเช่นกัน
  • ควรจ่ายเต็มจำนวนหรือจ่ายขั้นต่ำ
    บัตรเครดิตจะมีวันที่ที่สำคัญอยู่ 2 วันคือ วันสรุปยอดบัญชี คือวันที่จะสรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เราใช้ไปในแต่ละเดือน กับ วันครบกำหนดชำระเงิน คือ วันที่เราต้องจ่ายเงิน หากอยากได้รับความสะดวกจากการใช้บัตรเครดิตโดยไม่ต้องกังวลกับดอกเบี้ย ก็ควรวางแผนทางการเงินให้ดี เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจ่ายค่าบัตรเครดิตเต็มจำนวนเพื่อจะได้ไม่ต้องแบกภาระเรื่องดอกเบี้ย แต่ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวนได้ก็ควรจ่ายให้มากสุดเพื่อให้ภาระเรื่องดอกเบี้ยน้อยที่สุด ไม่ว่าจะจ่ายเต็มจำนวนหรือไม่ ที่สำคัญสุด คือ ควรจ่ายตรงเวลาทุกครั้ง เพื่อคงไว้ซึ่งประวัติการชำระเงินที่ดี
  • ใช้บัตรอย่างไรให้คุ้มค่า
    ผู้ถือบัตรทุกคนควรรู้ถึงสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตที่ตัวเองถืออยู่พร้อมทั้งศึกษาเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ให้ดี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องส่วนลดในหมวดต่างๆ การให้และแลกคะแนนสะสม ค่าธรรมเนียมรายปี ดอกเบี้ย และอื่นๆ ซึ่งเกือบทุกบัตรจะมีเงื่อนไขในการรับสิทธิพิเศษเหล่านี้ อาทิต้องใช้ขั้นต่ำเท่าไรต่อปีจึงจะยกเว้นค่าธรรมเนียม หากเรารู้และเข้าใจข้อกำหนดเหล่านี้ เราจะสามารถวางแผนการใช้ได้เหมาะสม อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามคือ โปรโมชั่นการใช้บัตร ซึ่งเกือบทุกบัตรในประเทศไทยนิยมจัดโปรโมชั่นพิเศษตลอดเวลา มีการมอบ ส่วนลด คะแนนสะสมพิเศษ คูณ 2, 3, 4 เครดิตเงินคืน และ/หรือ การผ่อนแบบ 0% อีกด้วย เพียงศึกษาข้อมูลดี ๆ คุณอาจจะได้ความคุ้มค่าจากการใช้บัตรอีกหลายต่อ
  • ใช้บัตรอย่างไรให้ปลอดภัย
    ควรเก็บรักษาบัตรเครดิตให้ดี พร้อมตั้งรหัส PIN ที่ปลอดภัย เดาได้ยาก และไม่บอกรหัสกับใคร ไม่ควรบอกข้อมูลบัตรและข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตร วันหมดอายุ หมายเลข CVV หลังบัตร หมายเลขโทรศัพท์ วัน/เดือน/ปีเกิด ให้ผู้อื่นทราบ เพราะเป็นข้อมูลที่มิจฉาชีพอาจนำไปใช้ในทางทุจริตได้ สำหรับนักช้อปออนไลน์ ควรเลือกร้านค้าออนไลน์ แอป หรือเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ และใช้รหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียวหรือ OTP ประกอบการทำรายการออนไลน์ทุกครั้ง ที่สำคัญ ควรเปิดการใช้งานข้อความแจ้งเตือนผ่าน SMS หรือผ่านโมบาย แอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน ให้แจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อมีการใช้จ่ายผ่านบัตร และควรตรวจสอบรายการใช้จ่ายทุกครั้งเมื่อได้รับใบแจ้งยอดรายเดือน ว่าถูกต้องตามที่มีการใช้จริงหรือไม่ หากมีรายการใช้จ่ายที่น่าสงสัย ควรติดต่อสถาบันการเงินผู้ให้บริการทันที
  • ใช้บัตรอย่างไรให้ถูกวิธี
    บัตรเครดิตก็เป็นเพียงเครื่องมือในการใช้จ่าย ไม่ต่างจากเงินสด หากเราไม่มีวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ว่าจะใช้เงินสดหรือบัตร สุดท้ายก็อาจมีปัญหาหนี้สินได้ไม่ต่างกัน การใช้บัตรเครดิต จึงควรคิดก่อนใช้ ใช้เมื่อจำเป็น และใช้ให้เหมาะสมกับรายได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ อย่าใช้เงินในอนาคต การใช้บัตรเครดิตที่ถูกวิธี ควรใช้บัตรแบบคนที่มีวินัยทางการเงิน วางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสม เช่น วางแผนว่ารายได้ต่อเดือนของเรามีเท่าไร มีรายจ่ายประจำเท่าไร สามารถใช้จ่ายส่วนตัวได้อีกเท่าไร และตั้งงบประมาณต่อเดือนที่จะใช้บัตรเครดิตได้เอาไว้และใช้ตามงบที่ตั้งไว้ เช่น ไม่เกิน 20% ของรายได้ เป็นต้น ที่สำคัญ ควรชำระค่าบัตรเต็มจำนวน และตรงเวลาทุกครั้ง เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถได้รับประโยชน์จากความสะดวกในการใช้บัตร รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากบัตร เช่น ส่วนลด คะแนนสะสม เครดิตเงินคืน โดยไม่ต้องกังวลกับภาระจากดอกเบี้ยหรือหนี้สิน

ที่มา: กรุงศรี คอนซูมเมอร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย