วิศวะมหิดล จัดการแข่งขันเยาวชน AI in Everyday Life พลังเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

อังคาร ๐๕ ตุลาคม ๒๐๒๑ ๑๕:๕๗
เยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี, ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม (ESR) ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จัด "การแข่งขันฝึกปฏิบัติการด้านการสื่อสารด้วยระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)" การสร้างนวัตกรรมต้นแบบ AI Challenge ในหัวข้อ AI in Everyday Life ภายใต้โครงการ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนด้วยทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 4.0 PLUS โดยมีครูและนักเรียนจาก 10 โรงเรียนเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อฝึกฝนในทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์และการลงมือทำจริง ผ่านระบบประชุมทางไกล Webex

ทีมเยาวชนจาก 10 โรงเรียนเข้าร่วมแข่งขัน มีทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และ มัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โรงเรียนวัดอินทาราม โรงเรียนเพิ่มวิทยาคม โรงเรียนคลองบางกระทึก โรงเรียนเทศบาล 1 วัดพระงาม (สามัคคีพิทยา) โรงเรียนราษฎร์บำรุงวิทยา โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย โรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย 2 โรงเรียนเทศบาล 2 วัดเสนหา (สมัครพลผดุง) โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดพระปฐมเจดีย์)

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันและอนาคต เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีส่วนพัฒนาในการทำงานและธุรกิจอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในกระบวนการการคิด การรับรู้ข่าวสารข้อมูล การนำข้อมูลมาอนุมานประมวลผล การจัดเก็บข้อมูลเพื่อประยุกต์ใช้ในอนาคต เป็นต้น จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา โดย AI จะช่วยมนุษย์ในการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและถูกต้องแม่นยำ ดังนั้น การที่ครูและเยาวชนไทยมีความรู้และทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์จะเป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียน นักศึกษา ในการประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน พร้อมที่จะก้าวไปสู่อาชีพซึ่งตรงความต้องการในอนาคต และยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนด้วยทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 4.0 PLUS มี 2 ส่วน โดยก่อนหน้านี้ เราได้จัดเวิร์คช็อปอบรมแก่ครู เรื่อง การสร้างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างเทคโนโลยี AI และนำไปประยุกต์ใช้เป็นนวัตกรรมในการเรียนการสอน คู่มือการเรียนรู้ และการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพแก่โรงเรียนเป้าหมาย ทั้งสร้างเสริมประสบการณ์การนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน

ในส่วนที่ 2  จัด "การแข่งขันฝึกปฏิบัติการด้านการสื่อสารด้วยระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)" สำหรับเยาวชนนักเรียน เพื่อใช้ทักษะสร้างนวัตกรรมต้นแบบ AI Challenge ในหัวข้อ "AI in Everyday Life" มุ่งส่งเสริมพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ สามารถคิดวิเคราะห์ มีทักษะวิชาชีพ ทักษะชีวิต การทำงานเป็นทีม พร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม การแข่งขัน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทความคิดสร้างสรรค์ (Conceptual Model) โดยการนำเสนอถึงแนวคิด หลักการและเหตุผล ที่มาของการสร้างนวัตกรรมต้นแบบในลักษณะแผนงานภาพร่างโครงการ 2. ประเภทอุปกรณ์ต้นแบบ (Prototyping) โดยทีมแข่งขันนำเสนอถึงแนวคิด หลักการและเหตุผล ที่มาของการสร้างนวัตกรรมต้นแบบ พร้อมออกแบบผลงาน สร้างโมเดลเบื้องต้นเพื่อแสดงถึงการทำงานของ AI

ไอเดียสุดล้ำจากเยาวชนไทย ผลการแข่งขัน มี 3 ผลงานที่ได้รับรางวัล ดังนี้

ผลงาน Food Gym จากทีม พ.ส. IR โรงเรียนวัดอินทาราม ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ โดยคอนเซปต์ของ "Food Gym" เป็นแอพพลิเคชันเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ โดยใช้ AI ประมวลผลข้อมูลต่างๆ มี 7 ฟังก์ชั่น ให้คนรักสุขภาพ สามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ คือ 1. Tips ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ 2. วิเคราะห์ท่าออกกำลังกายให้เหมาะกับสรีระและเพศ 3. สแกนอาหารบอกปริมาณแคลอรี่ 4. ค้นหาข้อมูลผัก ผลไม้ นำไปทำเมนูอะไรได้บ้าง  5. เปรียบเทียบราคาอาหารและค่าส่งแต่ละเดลิเวอรี่ 6. บันทึกการกินอาหารในแต่ละมื้อ และวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ 7. สะสมคะแนน สำหรับแลกของรางวัล

ผลงาน EYE CONTACT จากทีม Never Give Up โรงเรียนเพิ่มวิทยาคม คว้ารางวัลอุปกรณ์ต้นแบบ (Prototyping) โดยมีแนวคิดในการนำกล้องและแสงอินฟราเรด (IR LED) มาประยุกต์ใช้ทำงานร่วมกันในการตรวจจับม่านตา เพียงแค่สบตาให้กล้องเท่านั้น ก็สามารถเปิด-ปิดประตูได้ โดยไม่ต้องใช้กุญแจอีก ซึ่งการทำงานของกล้องจะเก็บภาพจากแสงอินฟราเรด ที่สะท้อนบนม่านตา เพื่อจดจำภาพม่านตาของผู้ใช้งานแต่ละคน และส่งข้อมูลไปยังระบบเซนเซอร์เพื่อทำหน้าที่เปิดประตู เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างระบบความปลอดภัยของบ้านอาคารและสะดวกรวดเร็ว

ผลงาน สายรัดอัจฉริยะ จากทีม Smart Strap โรงเรียนเทศบาล 2 วัดเสนหา (สมัครพลผดุง) คว้ารางวัล Popular Vote แนวคิดมาจากยุคโรคระบาดจำเป็นต้องปรับเป็นชีวิตวิถีใหม่ Next Normal ต้องการแก้ปัญหาเวลาลืมล้างมือ จึงได้คิดค้นอุปกรณ์ติดตัว เป็นสายรัดข้อมืออัจฉริยะ ที่ช่วยแจ้งเตือนให้ล้างมือ โดยได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมผ่านสายรัดข้อมือมาจาก Smart Watch ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้ นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบให้สายรัดข้อมือสามารถพ่นแอลกอฮอล์ออกมาด้วยระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับ หากต้องการให้ฉีดแอลกอฮอลสามารถพลิกข้อมือค้างไว้ 3 วินาที ระบบจะสั่งการฉีดแอลกอฮอล์นาน 3 วินาที จำนวน 2 ครั้ง โดยสั่งการอัตโนมัติแบบ AI จึงทำให้มีการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีความผิดพลาดน้อย

 

ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม