'บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์' ผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจแบบครบวงจร เคาะราคาขายหุ้น IPO ที่ 13.50 บาทต่อหุ้น

จันทร์ ๑๘ ตุลาคม ๒๐๒๑ ๑๕:๓๐
'บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์' ผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจแบบครบวงจร เคาะราคาขายหุ้น IPO ที่ 13.50 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อ 19 - 21 ต.ค. นี้ พร้อมเดินหน้าเข้าลงทุนธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในต่างประเทศ

'บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์' หรือ TFM ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจอย่างครบวงจร ประกาศราคาขายหุ้น IPO ที่ 13.50 บาทต่อหุ้น เตรียมพร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 19 - 21 ต.ค. 2564 เดินหน้านำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในเดือน ต.ค. ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ "TFM" มุ่งมั่นรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ เดินหน้าเข้าลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในต่างประเทศ เพื่อสร้างรากฐานการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในภูมิภาคเอเชียผ่านบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน รวมถึงการทำสัญญาความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำรายใหญ่ในประเทศอินเดียมาตั้งแต่ในปี 2546

บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 3 ราย เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ TFM ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ TFM ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจแบบครบวงจร เปิดเผยว่า นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการเข้าระดมทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจของ TFM ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดในประเทศไทยเท่านั้น บริษัทฯ ยังได้มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศที่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำมีศักยภาพในการเติบโตสูง ผ่าน Model ธุรกิจที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เช่น (1) การส่งออก เช่น ศรีลังกา มาเลเซีย บังคลาเทศ และพม่า เป็นต้น (2) การเข้าทำสัญญาความร่วมมือกับ AVANTI ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินเดีย โดยการใช้ชื่อทางการค้าและสูตรการผลิตของ TFM ในการขายสินค้าในประเทศอินเดีย และ (3) การเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตร จัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทฯ ในช่วง 3 - 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ TFM มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ พร้อมใช้ประโยชน์จากความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ความพร้อมทางด้านบุคลากร และแหล่งเงินทุนของบริษัทฯ และยังเป็นตัวแทนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชีย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าวต่อว่า บริษัทฯ มีกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ 3 แนวทาง ได้แก่ (1) รักษาและพัฒนาความเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศ ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมช่วยสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การให้วงเงินการซื้อสินค้าและระยะเวลาการให้สินเชื่อ (Credit Term) ที่เหมาะสม, ศึกษาข้อมูล ช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม, พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ลูกกุ้งที่มีคุณภาพ, นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและความคุ้มค่า (Proof of Performance) ของผลิตภัณฑ์

(2) พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพการผลิตตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ผ่านการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และสูตรอาหาร รวมถึงสูตรอาหารสำหรับสัตว์น้ำชนิดใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น อาหารปลากะพงยักษ์ ปลาเก๋า อาหารปลาสลิด อาหารปู และปลากดคัง เป็นต้น พร้อมพัฒนาสูตรอาหารโดยใช้วัตถุดิบใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงวัตถุดิบประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น การใช้โปรตีนจากพืช และการพัฒนาสูตรการผลิตที่ลดปริมาณการใช้น้ำมันปลา เป็นต้น และ (3) ขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยมีปัจจัยสำคัญในการพิจารณา ได้แก่ ความเป็นไปได้ของการลงทุน อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ความเสี่ยงและแนวทางการบริหารหรือลดความเสี่ยง ทั้งนี้ บริษัทฯ จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นสูงสุด

ปัจจุบัน TFM มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์สินค้าหลักของบริษัทฯ ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED)
นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารกุ้ง มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17 ของปริมาณอาหารกุ้งในไทย (ปี 2563) (2) ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพงและปลาเก๋า 2. อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิลและปลาดุก 3. อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา และ 4. อาหารกบ โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำกลุ่มตลาดอาหารปลากระพง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลาที่มีราคาจำหน่ายและอัตรากำไรค่อนข้างสูงกว่าอาหารปลาประเภทอื่นๆ โดยบริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดอาหารปลากะพงประมาณร้อยละ 24 ของปริมาณอาหารปลากระพงไทย (ปี 2563) และ (3) ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์บก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. อาหารสุกร 2. อาหารสัตว์ปีก โดยบริษัทฯ เริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์บกปลายปี 2561 และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ

บริษัทฯ มีโรงงานผลิตสินค้า 2 แห่ง คือ (1) โรงงานมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และ (2) โรงงานระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพและเหมาะแก่การประกอบธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ เนื่องจากภาคกลางและภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ โดยทั้ง 2 โรงงานมีกำลังการผลิตรวม 273,000 ตันต่อปี (ณ 30 มิ.ย.64) แบ่งเป็นอาหารกุ้ง 153,000 ตันต่อปี อาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี รวมถึงเป็นสายการผลิตแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติที่มีระบบการควบคุมและสั่งงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถติดตามข้อมูลในการผลิตระหว่างกระบวนการผลิตได้ทันที (Real time) ทั้งนี้ TFM มีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ ร้านค้าจำหน่ายอาหารสัตว์ และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 13.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในช่วงราคาที่ใช้ทำ Bookbuilding ที่ราคานี้คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เท่ากับ 21.7 เท่า หากพิจารณาผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 19 - 21 ตุลาคม 2564 และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนและซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ TFM เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 109.3 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90.0 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จำนวน 19.3 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 21.9 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย ชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต

"การเดินหน้าเข้าระดมทุนของ TFM ในครั้งนี้ ถือเป็นการพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นของกลุ่มไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ประกอบกับด้วยปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคง มีความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจ สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยการกำหนดราคาหุ้น IPO ของ TFM ที่ 13.50 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากศักยภาพการเติบโตและแผนการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในต่างประเทศ เพื่อสร้างรากฐานการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ TFM ในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต" นายพิเชษฐ กล่าว

ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ