กำไรสุทธิแบงก์ไทย 3Q/64 ปรับตัวลงจากไตรมาสก่อน หลังโควิดกระทบเศรษฐกิจ กดดันปัญหาคุณภาพหนี้

อังคาร ๑๙ ตุลาคม ๒๐๒๑ ๑๑:๕๐
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธ.พ. ไทย) อยู่ที่กรอบ 3.25-3.35 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 3/2564 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 5.72 หมื่นล้านบาท เนื่องจากโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 3/2564 กดดันรายได้จากธุรกิจหลัก โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และทำให้ธ.พ. มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงกว่าช่วงปกติ และสูงกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับสัดส่วน NPL ของระบบธ.พ. อาจขยับขึ้นมาที่ 3.10-3.17% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2564 แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากความยืดหยุ่นของเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ธ.พ. น่าจะสามารถปรับตัวเพื่อประคองผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนได้ แต่โจทย์ต่อเนื่องในปีหน้าจะยังคงเป็นเรื่องการดูแลปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และการเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งจะมีผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น
  • กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบ ธ.พ.ไทย) ในไตรมาส 3/2564 อาจลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลงอีกครั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปะทุขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาส อย่างไรก็ดีคาดว่า กำไรสุทธิของระบบ ธ.พ.ไทยจะขยับสูงขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนมีการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงรับโควิดระลอกแรก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์กำไรสุทธิของระบบธ.พ. ไทยที่ 3.30 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 3/2564 ลดลงประมาณ 42.2% QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 5.72 หมื่นล้านบาทจากผลของการบันทึกกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัทในเครือของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ทั้งนี้หากไม่นับรวมรายการนี้ กำไรสุทธิยังคงปรับตัวลง QoQ ประมาณ 32.5% เนื่องจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ หดตัวลงต่อเนื่องตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจซึ่งในระหว่างไตรมาสมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดและการใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ขณะที่รายจ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ) อาจขยับสูงขึ้นมากกว่าช่วงครึ่งแรกของปีเพื่อรองรับความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดีกำไรสุทธิของระบบธ.พ. ไทยในไตรมาสที่ 3/2564 ดังกล่าว ยังขยับสูงขึ้นหากเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน

  • รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ชะลอลงในไตรมาส 3/2564 นำโดย รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการซึ่งน่าจะหดตัวลงประมาณ 6.5-9.0% YoY อาทิ รายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมจัดการ และค่านายหน้า นอกจากนี้คาดว่า การตีมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทางการเงินผ่านงบกำไรขาดทุนของธนาคารพาณิชย์น่าจะได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และในไตรมาสที่ 3 ไม่น่าจะมีการบันทึกรายได้พิเศษก้อนใหญ่จากส่วนอื่นๆ

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยในภาพรวมในไตรมาส 3/2564 น่าจะชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อใหม่เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่ชะลอตัวลงตามความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดีภาพรวมสินเชื่อยังน่าจะขยับขึ้นทั้งเมื่อเทียบแบบ QoQ และ YoY ตามการเติบโตต่อเนื่องของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ประกอบกับสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟูมากขึ้น ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อของระบบธ.พ. ไทยจะเติบโตในกรอบ 4.7-5.2% YoY ในไตรมาส 3/2564 ขยับขึ้นจากที่เติบโต 4.4% YoY ในไตรมาส 2/2564 ที่ผ่านมา แต่ NIM ในไตรมาส 3/2564 อาจจะชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 2.50-2.55% เทียบกับ 2.56% ในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจที่ปล่อยใหม่ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องซึ่งมีดอกเบี้ยไม่สูง

  • ธนาคารหลายแห่งมีแนวโน้มกลับมาตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2564 เพื่อเตรียมรับมือประเด็นด้านคุณภาพหนี้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แม้จะยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้

โควิด-19 ที่ปะทุขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 3 มีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างย่อมมีผลกดดันสถานะทางการเงินของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ข้อมูลจากธปท. สะท้อนสัญญาณว่า ลูกหนี้มีแนวโน้มทยอยเข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น โดยยอดภาระหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือฯ ขยับขึ้นจากจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 3.18 ล้านล้านบาท (จากจำนวนบัญชีลูกหนี้เข้ามาตรการฯ 4.77 ล้านบัญชี) ในเดือนเมษายน 2564 มาที่ 3.35 ล้านล้านบาท (จำนวนบัญชีลูกหนี้เข้ามาตรการฯ 5.12 ล้านบัญชี) ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยในจำนวนนี้ สัดส่วนกว่า 60% เป็นลูกหนี้ที่รับความช่วยเหลือฯ จากธนาคารพาณิชย์

ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทยอยตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงกว่าช่วงปกติ เพื่อเตรียมการรองรับความไม่แน่นอนของประเด็นคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้ว่าธปท. ได้ขยายเวลาผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้และการกันเงินสำรองให้กับสถาบันการเงินไปจนถึงสิ้นปี 2565 แล้วก็ตาม สำหรับสถานการณ์สินเชื่อด้อยคุณภาพในช่วงไตรมาสที่ 3/2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL Ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ (ภาพรวมของธ.พ.ไทย+สาขาธ.พ. ต่างประเทศ) อาจขยับขึ้นมาที่ 3.10-3.17% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2564 จากระดับ 3.09% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2564 ตามสัญญาณความเปราะบางทางการเงินและปัญหาในการประคองรายได้ของลูกหนี้ในกลุ่ม SMEs และรายย่อย ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ หรือ Credit Cost ยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบ 1.46-1.49% ในไตรมาส 3/2564 ขยับขึ้นจากระดับ 1.45% ไตรมาส 2/2564

ประมาณการผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ของระบบธ.พ. ไทย

 3Q-25632Q-25643Q-2564fปัจจัย / ประเด็นสำคัญกำไรสุทธิ ของระบบธ.พ.ไทย2.38 หมื่นล้านบาท -20.2% QoQ -74.0% YoY5.72 หมื่นล้านบาท +47.3% QoQ +91.8% YoY3.30 หมื่นล้านบาท -42.2% QoQ +39.0% YoYรายได้จากธุรกิจหลักชะลอลง ประกอบกับธนาคารหลายแห่งมีแนวโน้มกลับมาตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ (% YoY)-13.0%+7.3%-9.0% ถึง -6.5% รายได้ค่าธรรมเนียมได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 ระบาด  NIM (%)2.65%2.56%2.50-2.55%NIM ปรับตัวลง ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องซึ่งมีดอกเบี้ยไม่สูงสินเชื่อ (% YoY)5.0%4.4%4.7-5.2%สินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ แต่กรอบการเติบโตที่ขยับขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำปีก่อน เงินฝาก (% YoY)9.7%4.1%4.5-5.0%แม้เงินฝากจะขยับขึ้น YoY แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในไตรมาสเดียวกันปีก่อน  % NPLs ต่อสินเชื่อรวม*3.14%3.09%3.10-3.17%ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจยังเป็นประเด็นเฝ้าระวัง แม้จะมีอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท.Credit Cost (%) การตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ1.72%1.45%1.46-1.49%ธ.พ. อาจตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับโควิดที่กดดันสถานะทางการเงินและรายได้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม

ที่มา: ธปท. และคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 3/2564 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ: %สัดส่วน NPLs ของระบบธ.พ. (ธ.พ.ไทย+สาขาธ.พ. ต่างประเทศ)

  • สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารพาณิชย์จะสามารถปรับตัวเพื่อประคองทิศทางกำไรสุทธิในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะหากการคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ที่ทางการไทยทยอยดำเนินการมีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงบางส่วน แม้ว่าการฟื้นตัวในภาพรวมจะมีความไม่แน่นอนและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก็ตาม

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยอาจเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 4/2564 แต่คงต้องยอมรับว่า ระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ/ธุรกิจในแต่ละภาคส่วนจะยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งทำให้ภารกิจสำคัญของธนาคารพาณิชย์ในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า จะอยู่ที่การเตรียมสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการพลิกฟื้นกิจการในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มที่ยังฟื้นตัวได้ช้า เพื่อเป็นอีกแนวทางในการดูแลปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่จะยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องไปในปีข้างหน้า และสำหรับในปีหน้า นั้น ความท้าทายที่รออยู่จะเป็นเรื่องสถานการณ์การแข่งขันของตลาดผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน (ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของตลาดสินเชื่อเท่านั้น) ที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นท่ามกลางผู้เล่นที่หลากหลาย ทั้งธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และกลุ่ม FinTech และ TechFin โดยภายใต้สนามการแข่งขันดังกล่าว ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะเตรียมวางแนวทางสำหรับการแก้โจทย์-ปรับโมเดลเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวหลังโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยเฉพาะการใช้ฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ชิงส่วนแบ่งในตลาดลูกค้าในช่องทางออนไลน์ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version