ศบค. ไฟเขียวมาตรการผ่อนปรนการจัดงานไมซ์

อังคาร ๑๙ ตุลาคม ๒๐๒๑ ๑๕:๐๐
ศบค. เห็นชอบมาตรการผ่อนปรนการจัดงานไมซ์ตามข้อเสนอทีเส็บเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ โดยทีเส็บกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค ภายในตุลาคมจนถึงสิ้นธันวาคมนี้ เตรียมรองรับงานไมซ์จ่อคิวรอจัดกว่า 1,000 กลุ่ม ในกรุงเทพและภูมิภาคทั่วประเทศ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของทีเส็บที่ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่ายด้านไมซ์ 23 องค์กร อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย, สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA), สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA), สมาคมโรงแรมไทย (THA) ฯลฯ ในการออกมาตรการผ่อนปรน "โครงการเปิดเมืองปลอดภัย ยกระดับการจัดงานไมซ์ด้วยมาตรฐาน" สำหรับการจัดประชุม งานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ต่างๆ งานเทศกาล และงานมหกรรม เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

การจัดงานไมซ์ภายใต้มาตรการผ่อนปรน โครงการเปิดเมืองปลอดภัย ยกระดับการจัดงานไมซ์ด้วยมาตรฐาน ได้ประมาณการว่า หากสามารถจัดงานในประเทศได้เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ดูไบ จีน ญี่ปุ่น ยึดหลักตามแนวคิด Smart Control Smart Living with COVID ของกระทรวงสาธารณสุข โครงการนี้จะช่วยสร้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนเป็นอย่างมาก เช่น การประชุม 1,000 กลุ่ม ที่มีจำนวน 50 คนต่อกลุ่มต่อเดือน จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ภูมิภาคกว่า 250 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางอ้อมในการฟื้นฟูด้านการเดินทางธุรกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

สำหรับมาตรการผ่อนปรนการจัดกิจกรรมไมซ์ ศบค. มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับมาตรการฯ สำหรับกิจการศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ รวมถึงสถานที่ลักษณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้าและโรงแรม โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ดังนี้

  • การจัดประชุม สัมมนา เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 22.00 น.
  • จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 500 คน (พิจารณาปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์)
  • ให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
  • จัดให้มีช่วงเวลาพักเพื่อการระบายอากาศของห้องประชุม
  • จัดเตรียมอาหารแบบแยกเป็นชุด
  • เว้นระยะห่างไม่ให้แออัด
  • ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทีเส็บกำหนดอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศ รวมทั้งการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ก่อนเปิดทำการด้วย ตลอดจนการจัดงานก็ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติการจัดงานไมซ์ไว้ 3 ระดับ คือ

  1. แนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ COVID FREE Environment ดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยในด้านความสะอาดของพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมในทุกพื้นที่ของสถานที่จัดงาน มีบริการจุดล้างมือหรือแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ บริการอาหารเครื่องดื่มแยกชุด มีการคัดกรองผู้จัดงานและพนักงาน มีการสื่อสารมาตรการแนวปฏิบัติให้ผู้เข้าร่วมงานและพนักงานทราบล่วงหน้าและสื่อสารระหว่างที่เข้าร่วมงาน มีแผนการบริหารความเสี่ยง แผนเผชิญเหตุ มีการเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ลดความแออัดโดยจำกัดจำนวนคนต่อพื้นที่ 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร จำกัดเวลาประชุมไม่เกินช่วงละ 2 ชั่วโมง และดูแลการระบายอากาศของสถานที่จัดงาน
  2. แนวปฏิบัติด้านผู้ให้บริการ หรือ COVID FREE Personnel ผู้จัดงาน และสถานที่จัดงาน ต้องจัดให้พนักงานทุกคนได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ มีการคัดกรองความเสี่ยงและบันทึกประวัติทุกวัน โดยผู้จัดงานต้องตรวจแอนติเจน (Antigen Test Self-Test Kits: ATK) ก่อนวันจัดงานอย่างน้อย 72 ชั่วโมง พนักงานประจำสถานที่จัดงานควรตรวจแอนติเจนทุก 7 วัน งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงานและระหว่างพัก กำหนดโซนการปฏิบัติงานและเลี่ยงการทำงานข้ามเขตหรือข้ามแผนก
  3. แนวปฏิบัติด้านผู้เข้าร่วมประชุม หรือ COVID FREE Customer ต้องมีการตรวจสอบประวัติความเสี่ยง หลักฐานการรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และผู้เข้าร่วมงานต้องปฏิบัติยึดหลัก DMHTA อย่างเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วย D-Distancing การเว้นระยะห่าง, M-Mask Wearing สวมหน้ากาก, H-Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ, T-Testing Temperature ตรวจอุณหภูมิก่อนเข้างาน, และ A-Application เช็คอินโดยใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ รวมถึงการประเมินอาการระหว่างและหลังการเข้าร่วมงานอย่างน้อย 14 วัน

ซึ่งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการลงทะเบียน และกำกับติดตามโดยผู้จัดงาน สมาคมที่เกี่ยวข้อง และทีเส็บ ทั้งนี้มาตรการอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยสามารถดาวน์โหลดเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://covid19.anamai.moph.go.th/th/

สำหรับการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค มาตรการเดิมกำหนดการรวมกลุ่มตามระดับพื้นที่ ตั้งแต่พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดถึงเฝ้าระวัง คือ 25, 50, 100, 200, 500 คน ปัจจุบันจากมาตรการที่เสนอปรับวันที่ 16 ตุลาคม ได้ปรับเพิ่มการรวมกลุ่มตามระดับพื้นที่ตั้งแต่พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดถึงเฝ้าระวัง คือ 50, 100, 200, 300, 500 คน

ด้านการกำกับดูแลการจัดงานหรือกิจกรรมไมซ์ จะเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้จัดงาน สมาคม และทีเส็บ โดยอยู่ภายใต้การกำกับติดตามของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยผู้จัดงานจะต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และเลือกสถานที่จัดงานที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ และ TMVS Plus 2HY เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การจัดงานจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเมือง และพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานหรือเขตที่รับผิดชอบอนุมัติจัดงานด้วย โดยผู้จัดงานต้องดำเนินการเพื่อขออนุมัติการจัดงานใน 5 ขั้นตอน คือ

  1. PLAN การวางแผนจัดงานโดยอ้างอิงแนวทาง COVID Free Setting จัดทำแผนเผชิญเหตุ เลือกใช้สถานที่จัดงานที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ และ TMVS Plus 2HY
  2. SUMMIT เสนอแผนการจัดงานต่อคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเห็นชอบในการจัดงาน
  3. AGREE คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร พิจารณาเห็นชอบต่อการจัดงานและให้คำแนะนำ หากมีการแก้ไข ผู้จัดงานต้องดำเนินการปรับแก้ไขตามคณะกรรมการฯ
  4. IMPLEMENT ปฏิบัติตามแนวทาง COVID Free Setting และมีผู้กำกับปฏิบัติตามมาตรการทุกวัน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ทำการสุ่มกำกับการจัดงาน
  5. REPORT นำส่งรายงานหลังการจัดงานให้กับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมงานอย่างน้อย 14 วัน

นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทีเส็บและภาคีเครือข่ายด้านไมซ์ยังเดินหน้าผลักดันข้อเสนอมาตรการผ่อนปรนการจัดงานไมซ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการผ่อนปรนในช่วงระยะต่อไปที่นำเสนอไปและมติที่ประชุม ศบค. ได้เห็นชอบ โดยรายละเอียดของมาตรการจะมีการหารืออีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดงานไมซ์ ซึ่งเสนอแบ่งเป็นช่วงระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 (1-30 พฤศจิกายน 2564) จัดการประชุมกำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 500 คน จัดงานแสดงสินค้า (ไม่มีการชิมอาหาร) งานอีเวนต์ต่างๆ งานเทศกาลและงานมหกรรมมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร

ระยะที่ 2 (1-31 ธันวาคม 2564) จัดการประชุมกำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คน จัดงานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ต่าง ๆ งานเทศกาลและงานมหกรรมมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร

ระยะที่ 3 (1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) เปิดให้จัดได้ในทุกกิจกรรม จัดงานได้ตามเหมาะสม โดยจัดได้เต็มพื้นที่ 100% เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร

"การเสนอมาตรการผ่อนปรนตามช่วงระยะดังกล่าว เพื่อให้สามารถรองรับการจัดงานไมซ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยในช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2564 จะมีงานไมซ์จัดกว่า 1,000 กลุ่ม เช่น งานแสดงสินค้ามีจำนวน 54 งาน ซึ่งจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรีจำนวน 32 งาน ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 22 งาน โดยการจัดงานไมซ์ดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้จัดงาน โรงแรม สถานที่จัดงาน การขนส่ง ร้านอาหาร ธุรกิจผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งในส่วนกลางกรุงเทพฯ และระดับท้องถิ่นชุมชน เกิดการจ้างงานสร้างรายได้กระจายในภูมิภาคทั่วประเทศ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการไมซ์ดำเนินการจัดงานตาม 'แนวทางปฏิบัติการจัดงานไมซ์' ภายใต้มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทีเส็บได้กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ https://hia.anamai.moph.go.th/th/handbook/2927#wow-book/"

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม