ปลัด วธ.กล่าวอีกว่า เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้สวจ.หลายจังหวัดทยอยส่งข้อมูลลายผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดมายังวธ. เช่น ผ้า"ลายผ้าศิลาล้อมเพชร" จ.กำแพงเพชร ซึ่งออกแบบลวดลายจากงานประติมากรรมต่างๆในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร,ผ้าลายดอกบุนนาค จ.พิจิตร มีที่มาจากต้นบุนนาค ต้นไม้ประจำจ.พิจิตร ,ลายผ้าประจำจ.นครสวรรค์ มีลวดลายผ้าประกอบด้วยลายคลื่นสายน้ำ 4 สาย ประกอบด้วยลายมังกรนครสวรรค์ ลายดอกบัวบึงบอระเพ็ด ลายปลาเสือและลายดอกเสลา,ผ้ามัดย้อมลายเกล็ดปลา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมัดย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกตะบูนและเปลือกมะพร้าว เป็นพรรณไม้ที่มีมาก ในจ.สมุทรสงคราม, ผ้าเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นผ้าฝ้ายยกดอกลายเต่า ทอด้วยผ้าขาวม้า 9 เส้น , ผ้ายกเมืองนครลายดอกพิกุล จ.นครศรีธรรมราช เป็นลายเลียนแบบธรรมชาติ เนื่องจากสมัยก่อนต้นพิกุล นิยมปลูกกันมากในบริเวณลานวัด ,ผ้าทอพุมเรียงลายราชวัตรโคม จ.สุราษฎร์ธานี มีลักษณะคล้ายโคมไฟ ซึ่งลายราชวัตรโคมของผ้าทอพุมเรียงมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น มีราชวัตรโคมดอกใหญ่เป็นลายหลัก และราชวัตรโคมดอกเล็กเป็นลายรองอยู่ในผืนผ้าเดียวกัน ไม่นำไปประกอบกับลายอื่นและผ้าไทยลายดอกพะยอมเล็ก จ.พัทลุง ดอกพะยอมเป็นต้นไม้ประจำ จ.พัทลุง
นางยุพา กล่าวด้วยว่า วธ.จะรวบรวมข้อมูลลายผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด บรรจุไว้ในฐานข้อมูลภูมิปัญญาผ้าไทย ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลใหญ่กระทรวงวัฒนธรรม (M-Culture Big Data) จะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ หลังจากนั้นปี 2565 จะเดินหน้าส่งเสริมผ้าไทยให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ วธ.ตั้งเป้าหมายเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่ที่สุดในเรื่องผ้าไทยของประเทศมีข้อมูลวิชาการ งานวิจัย เอกสารที่ได้รับมาตรฐานรับรองและมีคลังความรู้จากนักออกแบบ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้เข้ามาค้นคว้าหาความรู้พร้อมนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดด้านการผลิตและแปรรูปผ้าไทย เช่น เสื้อผ้า หมวก รองเท้า รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT)ให้มีความทันสมัยและรูปแบบร่วมสมัยดึงดูดใจให้ประชาชน เยาวชนคนรุ่นใหม่อยากสวมใส่ และใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของวธ. เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน จังหวัดและประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งยกระดับผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับสากล
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม