ผู้ถือหุ้น ราช กรุ๊ป หนุนลงทุนโครงการ Paiton Energy ในอินโดนีเซีย มูลค่า 2.54 หมื่นล้านบาท เสริมรายได้ระยะยาวมั่นคงและเพิ่มโอกาสธุรกิจในอินโดนีเซีย

จันทร์ ๒๕ ตุลาคม ๒๐๒๑ ๐๙:๓๒
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ได้อนุมัติให้บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) บริษัทย่อยทางอ้อม เข้าทำธุรกรรมการซื้อหุ้นสามัญของกลุ่มบริษัท Paiton Energy ที่ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนในประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้ง 2,045 เมกะวัตต์ มูลค่า 809.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 25,421.68 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนดังกล่าวและพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2564 ในวันนี้ (21 ตุลาคม 2564) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติด้วยคะแนนเสียง ร้อยละ 99.69 ของจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด อนุมัติให้บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม เข้าทำธุรกรรมการลงทุนซื้อหุ้นสามัญของกลุ่มบริษัท Paiton Energy จาก Mitsui & Co., Ltd. รวมมูลค่า 809.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 25,421.68 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. การเข้าซื้อหุ้นสามัญร้อยละ 45.515 ในบริษัท PT Paiton Energy (PE) ที่ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า 2 แห่ง (3 หน่วยการผลิต) มูลค่า 707.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 22,206.29 ล้านบาท
  2. การเข้าซื้อหุ้นสามัญ ร้อยละ 45.515 ใน Minejesa Capital B.V. (MCBV) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ PE มูลค่า 53.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,679.92 ล้านบาท
  3. การเข้าซื้อหุ้นสามัญ ร้อยละ 65 ใน IPM Asia Pte. Ltd. (IPM) ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 84 ใน PT Paiton Operation and Maintenance Indonesia โดยเป็นบริษัทบริหารการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งให้แก่ PE มูลค่า 48.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,535.47 ล้านบาท

โรงไฟฟ้า Paiton มีความสำคัญต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดย PE เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ถ่านหินซับบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 2,045 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 6 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดบนเกาะชวา ได้แก่ โรงไฟฟ้าแห่งที่ 1 (P7/8) ประกอบด้วยหน่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวน 2 หน่วย มีกำลังการผลิตหน่วยละ 615 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 1,230 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PLN) ระยะเวลา 43 ปี ตั้งแต่ปี 2542 - ปี 2585 และโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 (P3) มีกำลังการผลิต 815 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PLN) ระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 - ปี 2585 ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PLN) ของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งยังคงเหลือระยะเวลา 21 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยังได้อนุมัติให้บริษัทฯ จัดสรรเงินลงทุนตามเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นสามัญดังกล่าว รวมถึงการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การเข้าทำธุรกรรมการลงทุนในโรงไฟฟ้า Paiton บรรลุผลสำเร็จ โดยคาดว่า กระบวนการการลงทุนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคม 2565

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะลงทุนโดยใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินทุนหมุนเวียนภายในของบริษัทฯ ซึ่งเพียงพอต่อธุรกรรมดังกล่าว โดยบริษัทฯ มีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 46,829.42 ล้านบาท ในกรณีที่ใช้เงินกู้จากสถาบันลงทุนทั้งจำนวนจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity) เป็น1.25 เท่า ซึ่งยังเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของสถาบันการเงิน และการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย

"การเข้าซื้อกิจการ PE นับเป็นก้าวสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคงในระยะยาว เพราะโรงไฟฟ้า Paiton มีการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องสามารถให้ผลตอบแทนที่มีนัยสำคัญต่อรายได้และเพิ่มมูลค่ากิจการบริษัทฯ ให้แข็งแกร่งในระยะยาว อีกทั้งช่วยชดเชยกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าราชบุรีที่ทยอยลดลงตามกำหนดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้านับจากปี 2568 ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Paiton ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับ PLN เป็นเวลาถึง 22 ปี โดยตั้งแต่ปี 2561 - 2563 มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังมีการดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และยังมีแผนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ 7 และ 8 ในปี 2565-2566 ซึ่งจะส่งผลดีทั้งด้านการผลิต และมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้วย" นางสาวชูศรี กล่าวและเสริมต่อไปว่า

"ในนามของคณะกรรมการบริษัทฯ ขอขอบพระคุณผู้ถือหุ้นที่ให้การสนับสนุนและเชื่อมั่นในแนวทางสร้างการเติบโตของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้แก่ผู้ถือหุ้นและประโยชน์ร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ การลงทุนในโรงไฟฟ้า Paiton จะส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 931 เมกะวัตต์ และยังเป็นโอกาสสนับสนุนการขยายการลงทุนโครงการใหม่ รวมถึงโครงการด้านพลังงานทดแทน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และบรรลุตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานและสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"

สำหรับโรงไฟฟ้า Paiton ทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่ใน Paiton Power Complex ซึ่งเป็นศูนย์รวมแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศอินโดนีเซียและเป็นแหล่งไฟฟ้าที่สำคัญของเกาะชวา ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด 8 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 4,700 เมกะวัตต์

ที่มา: ราช กรุ๊ป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๕๓ ดร.เฉลิมชัย เยี่ยมชม Thailand Pavilion ร่วมกิจกรรมคู่ขนาน COP29 พร้อมถ่ายรูปคู่ น้องหมูเด้ง ขวัญใจชาวโลก
๑๑:๑๔ AXOR ดันนิยามความลักชูรีเฉพาะบุคคลไปอีกขั้น เปิดตัวแคมเปญ AXOR One Bi-color ชูความหลากหลายของสีสันและนวัตกรรมล้ำสมัยตอบโจทย์ทุกความต้องการส่วนบุคคล
๑๑:๔๘ ทีเอ็มบีธนชาต มอบเงินบริจาค 2 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภัยพิบัติ ผ่านสภากาชาดไทย
๑๑:๕๑ อิ่มอร่อยกับบุฟเฟ่ต์นานาชาติสุดตระการตา พฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 ณ แคลิฟอร์เนีย สเต็ก โรงแรมแคนทารี อยุธยา
๑๑:๔๓ พิธีลงนาม MoU คณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท บอทแอนด์ไลฟ์ จำกัด อุตสาหกรรมและการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล
๑๑:๑๒ ไบร์ท - ตู ถ่ายทอดดีเอ็นเอของแบรนด์ AMI ผ่านคอลเล็กชัน Fall/Winter 2024 ณ ป็อปอัพสโตร์ สยาม พารากอน
๑๑:๔๐ อ.อ.ป. เปิดเวที สัมมนาวิชาการสวนป่า มุ่งหวังขับเคลื่อน การจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กร
๑๑:๑๑ โค้งสุดท้าย! กรม สบส. เชิญร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ
๑๐:๓๗ ศศินทร์ และ School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang ลงนาม MOU และเปิดตัว Regional Business Center ที่กรุงเทพฯ
๑๐:๒๓ NT เดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม CBC ตอบรับนโยบาย Cell Broadcast ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยผ่านโครงข่ายมือถือของประเทศ