ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสร้างพื้นที่ต้นแบบอย่างหลากหลายพื้นที่ ภายใต้โครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง โดยใช้พื้นที่ว่างปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานอย่างปลอดภัย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้วยความสำเร็จของแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างความมั่นคง
ทางอาหาร โดยรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เน้นการพึ่งพาตนเองให้รอดพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเยี่ยม ทำให้คนไทยกว่า 12 ล้านครัวเรือนเกิดการตื่นตัวปลูกพืชผักสวนครัวเป็นอย่างมาก ต่อมาสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการกลับมาแพร่ระบาดหนักเป็นรอบที่ 2 และ รอบที่3 โดยมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ทำให้ยารักษาโรคไม่เพียงพอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายหน่วยงานหันมาศึกษาวิจัยและในเรื่องของพืชสมุนไพรอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกและองค์กรสุขภาพอื่น ๆ ได้พูดถึง ระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของประเทศ ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่เต็มไปด้วยสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ผ่านการทดลองใช้และถ่ายทอดกันมานานจากรุ่นสู่รุ่นทั้งยังหาได้ง่าย และมีราคาถูก หากมีการนำมาพัฒนาอย่างครบวงจรจะช่วยบรรเทาความกดดันต่อระบบบริการสุขภาพ ประหยัด และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประกอบกับรัฐบาลมีการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งนับเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสุขภาพที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการส่งเสริมให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามการจะใช้สมุนไพรจำเป็นต้องมีการสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง และต้องมีการบรรจุรายการยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริงให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาสามัญประจำบ้านให้ประชาชนมีใช้ประจำบ้าน
สำหรับ 3 สมุนไพร ทางรอดสู้ภัย covid-19 ประกอบด้วย 1.ฟ้าทะลายโจร พืชสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัดแก้ไอและเจ็บคอ โดยฟ้าทะลายมี Andrographolide ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้าสู่เซลล์ร่างกาย แบบแคปซูลกินภายใน 72 ชม.หลังรับเชื้อ ติดต่อกัน 5 วัน หรือกินยอดใบ 5-10 ใบต่อมื้อ 3-4 ครั้งต่อวัน 2.กระชายขาว ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส มีสาร Panduratin ช่วยในการต้านไวรัส ทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อ มีทั้งแบบแคปซูล หรือต้มสุกดื่มน้ำ และปรุงเป็นอาหาร 3.ขิง มีสารสำคัญ Zingerol และ Gingerol ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส มีทั้งแบบแคปซูล ผง หรือต้มดื่มตอนเช้าช่วยบำรุงปอด
จะเห็นได้ว่า สมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย จนทั่วโลกให้การยอมรับ นับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยที่ผ่านมาทางกรมการพัฒนาชุมชน มีการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น พืชสวนครัว อื่นๆ โดยเฉพาะ ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา บวบ กระชาย ฟ้าทะลายโจร อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับกับการขยายผลการปลูกผักสวนครัวจากวัดสู่ชุมชน ตามหลัก "บวร"(บ้าน-ชุมชน / วัด-ศาสนสถาน / โรงเรียน-ราชการ) ในกิจกรรมการ "น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนการปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชน วัด และโรงเรียน ในการปลูกฟ้าทะลายโจร และพืชสมุนไพรอื่น ๆ ในพื้นที่ว่าง นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาแหล่งอาหารใกล้บ้าน ลดรายจ่าย สร้างครัวให้กับชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีและสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วยทั้ง เห็นได้ว่าทั้ง 3 ส่วนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีประโยชน์ เพื่อพัฒนาจิตใจและจิตสำนึกด้านจริยธรรมให้แก่ประชาชนทุกระดับ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเข้าถึงวัคซีนและค้นพบการรักษาทางเลือกเพิ่มมากขึ้น แต่การป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ใช้แอลกอฮอล์ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือที่เรียกรวมว่า วิถีชีวิตแบบ new normal ยังคงเป็นสิ่งที่ความสำคัญ หากได้รับการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) จะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
ที่มา: image solution