- อย่างไรก็ดี แม้ในขณะนี้อิทธิพลของพายุคมปาซุได้คลี่คลายลงไปแล้ว ทำให้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้มีระดับน้ำท่วมที่ลดลงไปบ้างแล้ว แต่เมื่อมองต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ประเทศไทยน่าจะได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนตามฤดูกาลที่มีแนวโน้มรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนให้อยู่ในระดับสูง จึงยังคงต้องจับตาถึงระดับความรุนแรงของพายุที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักในภาคใต้อีกด้วย
- ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้นที่ไม่ได้รวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน (เช่น ถนน สะพาน เป็นต้น) และยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งยังต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงจากน้ำท่วมในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม แม้การประเมินตัวเลขความเสียหายดังกล่าวในปีนี้ที่อาจมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีน้ำท่วมรุนแรงล่าสุดของไทยเช่นในปี 2560 ทั้งในมิติของมูลค่าความเสียหายของข้าว และสัดส่วนมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวมเศรษฐกิจระดับประเทศ แต่ในระดับภูมิภาค เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ที่ครัวเรือนก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหารายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง) การมีงานทำ การเผชิญปัญหาสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย