วันนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยความร่วมมือกับ Harbour.Space@UTCC ประกาศว่านักพัฒนาทีม Well Well ของมหาวิทยาลัย ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในห้าผู้เข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขัน Call for Code Global Challenge University ระดับโลกประจำปีนี้ การแข่งขัน IBM Call for Code Global Challenge ประจำปี 2021 ได้เปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และนวัตกรทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส
ทีม Well Well ได้พัฒนาเครื่องมือ AI ที่สามารถค้นหาตำแหน่งของบ่อน้ำน้ำที่ดีที่สุด ในระยะที่คนเดินไปถึงได้ รวมถึงประเมินแร่ธาตุและองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ ณ จุดนั้นๆ ข้อมูลพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น การไหลของน้ำและการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำนั้น องค์ประกอบของดิน ความลึกที่จำเป็นสำหรับการเข้าถึงน้ำ แหล่งต้นน้ำ ตลอดจนระยะห่างจากบ่อน้ำอื่นๆ จะถูกนำมาวิเคราะห์ผ่านโมเดลแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อให้การขุดเจาะบ่อน้ำสำหรับชุมชนประสบความสำเร็จ และให้แน่ใจว่าการผลิตน้ำจากบ่อน้ำต่างๆ จะเป็นไปอย่างยั่งยืน
การใช้เว็บแอปพลิเคชันฟรีที่ใช้ตำแหน่ง GPS ของจุดต่างๆ ทั่วโลก ร่วมกับแผนที่แสดงลักษณะทางธรณีวิทยาอย่างภาพและแมชชีนเลิร์นนิ่ง ทำให้วันนี้ผู้คนจำนวนมากที่แม้ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตก็สามารถค้นหาตำแหน่งที่ดีที่สุดในการขุดเจาะบ่อน้ำและเข้าถึงน้ำสะอาดได้ หรือในอีกทางชุมชนต่างๆ สามารถเลือกใช้อุปกรณ์พกพาที่มีค่าใช้จ่าย ที่ได้มีการโปรแกรมตำแหน่งการขุดเจาะบ่อน้ำที่ดีที่สุดมาแล้ว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถจับตำแหน่ง GPS และนำทางไปยังจุดที่ใกล้ที่สุดและดีที่สุดสำหรับการขุดเจาะบ่อน้ำได้
"ทุกวันนี้ประชาชน 2.2 พันล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยได้ และปัจจุบันยังมีประชาชนถึง 884 ล้านคนที่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีบริการน้ำดื่มขั้นพื้นฐาน" รศ. ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว "การขุดเจาะบ่อน้ำมักจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือนักอุทกวิทยา เพื่อที่จะทราบว่าตำแหน่งใดที่มีศักยภาพสำหรับการขุดบ่อน้ำ บ่อยครั้งที่ประชาชนไม่สามารถจ่ายค่าบริการราคาแพงเหล่านี้ได้ วันนี้มหาวิทยาลัยจึงภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยเผยแพร่สิ่งที่ทีม Well Well ทำ ในการนำพลังของ AI และแมชชีนเลิร์นนิ่งมาช่วยในการค้นหาตำแหน่งบ่อน้ำอย่างเป็นระบบ ราคาไม่แพง อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น"
นับตั้งแต่ เดวิด คลาร์ก คอส และไอบีเอ็ม ได้เปิดตัว Call for Code ในปี 2561 ภายใต้การสนับสนุนของ Linux Foundation และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นักพัฒนาและนักแก้ปัญหามากกว่า 500,000 คน ใน 180 ประเทศได้เข้าร่วมโครงการ และสร้างแอพพลิเคชันกว่า 20,000 แอพ เพื่อช่วยแก้ไขหลายปัญหาเร่งด่วนที่สุดของโลก ตั้งแต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โควิด-19 ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แอพพลิเคชันเหล่านี้สร้างขึ้นโดยใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งรวมถึง Red Hat OpenShift, IBM Cloud, IBM Watson, IBM Blockchain รวมถึงข้อมูลจาก The Weather Company ของไอบีเอ็ม จวบจนวันนี้ โครงการ Call for Code รวม 14 โครงการ ได้ถูกรับเข้ามาอยู่ใน open governance ของ Linux Foundation แล้ว
Call for Code แตกต่างจากโครงการการกุศลอื่นๆ โดยทุกปีไอบีเอ็มและ ecosystem partner จะทำงานร่วมกับทีมชั้นนำเหล่านี้ เพื่อต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีและช่วยให้โซลูชันเหล่านี้สามารถนำมาใช้งานได้จริง พร้อมเปิดโค้ดในชุมชนโอเพนซอร์สให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ รวมถึงช่วยให้ชุมชนต่างๆ ทั่วโลกสามารถนำโซลูชันเหล่านั้นไปใช้งานได้จริง
ทีม Well Well และผู้เข้ารอบสุดท้ายรายอื่นๆ จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จะได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้นำด้านธุรกิจ วิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และ NGO จากในภูมิภาค เพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยผู้ชนะเลิศ Call for Code Global and University Challenge จะถูกเลือกจากทีมที่ชนะระดับภูมิภาค การประกาศรายชื่อผู้ชนะเลิศ Global and University Challenge จะมีขึ้นที่งาน Call for Code Awards ประจำปี 2021 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัล 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจะสามารถรับคำแนะนำจากไอบีเอ็มและเมนเทอร์จาก Call for Code Community ได้ต่อไป
"เราขอยกย่องผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกท่าน สำหรับการอุทิศตนและความคิดริเริ่มเพื่อช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" รูธ เดวิส ผู้อำนวยการของ IBM Call for Code กล่าว "นักพัฒนาและนักแก้ปัญหาจาก ทีม Well Well เป็นบทพิสูจน์ที่สะท้อนถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่ชุมชนโอเพนซอร์สจะสามารถทำได้ และทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีจะสามารถช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตได้อย่างไร เราจะตั้งตารอดูว่าสิ่งที่ทีม Well Well ทำจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไร"
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนด้านธุรกิจการค้าและการบริการ มีพันธกิจในการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneur) เน้นการสอนทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาทุกคณะ ตั้งแต่ปี 2562 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับฮาร์เบอร์สเปซ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน เปิดตัวหลักสูตร Harbour.Space@UTCC เพื่อพลิกโฉมวงการการศึกษาไทย มุ่งพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอาชีพในอนาคต พร้อมระดมมืออาชีพระดับโลกมาเป็นผู้สอนโดยมีการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้โดยการลงมือทำโครงงาน (Project-based Learning) หลักสูตร Harbour.Space@UTCC เปิดสอนทั้งแบบคอร์สระยะสั้น ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในสาขา Computer Science, Data Science, Cyber Security, Fintech, Digital Marketing, Interaction Design และ High-Tech Entrepreneurship.
ที่มา: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย