ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ให้ผลดีและมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการพัฒนาระบบการรักษาในโรงพยาบาลตามมาตรฐานแล้ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการบริการแบบเชิงรุกร่วมด้วย โดยจัดให้มีหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยในการลดระยะเวลาการรอคอยการรักษาในระหว่างการเดินทางไปโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น สามารถลดภาวะทุพพลภาพ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดอาการแล้วต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนฉุกเฉิน ต้องแข่งกับเวลา เพราะทุกนาทีคือโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขจะให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ รวมถึงช่วยผลักดันนโยบายในการเพิ่มหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ให้คนไทยเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย "ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน"
ผศ.(พิเศษ) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนฉุกเฉิน โดยเฉพาะการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) และได้รับการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง มีบทบาทในการศึกษา วิจัย พัฒนา เพื่อสร้างผลงานวิชาการ องค์ความรู้ และนวัตกรรมทางการแพทย์โรคระบบประสาท ได้ดำเนินการพัฒนาหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile Stroke Unit) ในการบริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือ ได้แก่ เขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้บริการคัดกรองโรคระบบประสาทเชิงรุก และให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานอย่างรวดเร็ว รวมถึงการบริการเชิงรุกสำหรับงานออกหน่วยแพทย์นอกสถานพยาบาล และงานกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการรอคอย ลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการบริหารจัดการหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือนั้น ได้รับความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งหน่วยงาน
ทั้ง 3 แห่ง ได้ให้การสนับสนุนสถานที่ในการติดตั้งรถ NIT Mobile Stroke Unit รวมถึงการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ระหว่างให้บริการประชาชน
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อ ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก ทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในเชิงรุกและเร่งด่วน กลุ่ม ปตท. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผนึกพลังกับภาครัฐและเอกชนในการมีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาดังกล่าว จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ด้วยการสนับสนุนพื้นที่บริเวณศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต สำหรับให้บริการรถ NIT Mobile Stroke Unit พร้อมการจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับติดตั้งระบบในการให้บริการประชาชน รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ ซึ่ง ปตท. เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในด้านสาธารณสุข ที่เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ กลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เรายังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่ง ที่ กลุ่ม ปตท. ได้นำประสบการณ์และองค์ความรู้ ร่วมกับพันธมิตรทางการแพทย์ในการเสริมศักยภาพให้ระบบสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแบ่งเบาภาระของภาครัฐ และร่วมดูแลประชาชน เพื่อให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า โออาร์ ตระหนักถึงความจำเป็นของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และได้ร่วมสนับสนุนโครงการโมบายสโตรคยูนิต ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานได้อย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วย โดยในวันนี้ โออาร์ ได้ร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา ดำเนินโครงการ NIT Mobile Stroke Unit เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการไปยังพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือและ จ.นนทบุรีเพิ่มเติม โดยจัดพื้นที่ใน พีทีที สเตชั่น เพื่อเป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิตเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สาขาโรงพยาบาลศรีธัญญา และสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สาขาราชพฤกษ์ 3 จากที่ก่อนหน้านี้ โออาร์ ได้เปิดพื้นที่ในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ให้เป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิตแล้ว 18 แห่ง สำหรับให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก การร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าวเปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลเข้าสู่ชุมชน สร้างความอุ่นใจให้กับสังคม ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนในการดำเนินธุรกิจของ พีทีที สเตชั่น ที่มุ่งสร้างคุณค่าให้กับชุมชน และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางที่จะร่วมเติมเต็มทุกความสุขกับทุกชุมชน (Living Community) อีกทั้งยังเป็นไปตามแนวทางในการทำธุรกิจของ โออาร์ ที่ให้ความสำคัญกับการเกื้อกูลสังคมเพื่อสร้างความเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
นายชฎิล ศุขะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. พร้อมเคียงข้างคนไทยในทุกวิกฤต โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืน สำหรับโรคเลือดสมองนับเป็นอีกหนึ่งวิกฤตของโรคภัยที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน ทั้งนี้ กฟผ. ยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการให้บริการคัดกรองโรคระบบประสาทและการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเชิงรุก โดย กฟผ. จะจัดเตรียมพื้นที่ในบริเวณสำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี สำหรับการติดตั้งระบบและรถ NIT Mobile Stroke Unit รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนที่เดินทางเข้ามารับการรักษา และเตรียมพร้อมสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการให้บริการดังกล่าวด้วย
ที่มา: ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก