มาตรฐาน ISO 56002: 2019 จัดตั้งขึ้นโดยองค์การ ISO (the International Organization for Standardization) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อสนับสนุนให้มีมาตรฐานการจัดการระบบนวัตกรรม และเป็นการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงระบบการจัดการนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ (ScII) มีฐานะเทียบเท่ากับคณะในจุฬาฯ และถือเป็น "เรือด่วน" (speed boat) ที่มีความคล่องตัวและว่องไวในการตอบสนองต่อความต้องการใหม่ของโลกแห่งอนาคต สถาบัน ScII จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ หลักสูตรนานาชาติ (Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation: BAScii) มีมาตรฐานการเรียนการสอนในระดับนานาชาติ อาจารย์ผู้สอน 70% เป็นอาจารย์ต่างประเทศ นิสิตที่รับเข้าศึกษาปีละ 100 คน ตั้งเป้าว่าจะเป็นนิสิตต่างชาติ 30% ที่ผ่านมาได้เปิดรับนิสิตมาแล้ว 3 รุ่น แต่ละปีมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรเป็นจำนวนมาก โดยนิสิตทุกคนจะต้องสร้างสรรค์โครงงานทางด้านนวัตกรรม
ศ.ดร.วรศักดิ์ กล่าวว่า การจัดการระบบนวัตกรรมของสถาบัน ScII ได้วางกลยุทธ์ 5 ประการ ประกอบด้วย การสร้างนวัตกรรมที่พร้อมตอบสนองความต้องการของตลาด การเน้นหลักสูตรวิทยาการข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary Curriculum) โดยมีสองแกนหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล และวิทยาการผู้ประกอบการ การเตรียมความพร้อมให้แก่นิสิต ด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 การเน้นย้ำวัฒนธรรมความเป็นสากลและการเป็นพลเมืองโลก และการสร้างระบบนิเวศแบบเปิดสำหรับร่วมมือกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม สถาบัน ScII ได้ยื่นสมัครขอใบรับรอง ISO 56002: 2019 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ด้วยการทำงานอย่างทุ่มเทเป็นเวลากว่าหนึ่งปี จนมั่นใจว่าสถาบันฯ มีระบบการจัดการ กระบวนการ และนโยบายที่มีมาตรฐานตาม ISO 56002:2019
สถาบัน ScII ได้ผ่านการตรวจประเมินขั้นสุดท้ายจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอประเทศไทย (MASCI) เมื่อวันที่ 29 - 30 กันยายน 2564 โดย MASCI ได้แจ้งผลเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 โดยระบุจุดเด่น 4 ประการของสถาบันฯ จากการประเมิน ได้แก่ 1.การเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสร้างหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และการเป็นผู้ประกอบการ 2.ผู้บริหารมีความมุ่งมั่นต่อระบบการจัดการนวัตกรรม ทั้งด้านวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านนวัตกรรมของการก่อตั้งสถาบันฯ 3.มีพันธมิตรทั้งในภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยในการผลักดันการคิดค้นและริเริ่มผลงานด้านนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี 4.กระบวนการทางนวัตกรรมที่มีการลงมือปฏิบัติ สร้างแนวคิด และการลงพื้นที่สำรวจต่อกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ผลของการสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม ลดความไม่แน่นอนและความเสี่ยง ซึ่งเป็นจุดดีของกระบวนการทางนวัตกรรม
"การที่ระบบการบริหารจัดการนวัตกรรมของสถาบัน ScII ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 56002-2019 บ่งชี้ว่าสถาบันฯ มีระบบการบริหารนวัตกรรมที่มีคุณภาพในระดับสากล ซึ่งจะทำให้สถาบันฯ รักษาความสม่ำเสมอทางด้านคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักเรียน รวมถึงผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่นำนวัตกรรมจากนิสิตไปใช้จริง สอดคล้องกับปณิธานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือการสร้างสรรค์ "นวัตกรรมเพื่อสังคม" (Innovations for Society)" ศ.ดร.วรศักดิ์ กล่าวในที่สุด
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย