สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ เปิดเผย หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า สสน. ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูล เพื่อบริหารจัดการน้ำของประเทศ มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำ ในประเทศไทยทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงการขยายผลการทำงานโดยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งมีศักยภาพพร้อม ที่จะบูรณาการองค์ความรู้และต่อยอดทางนวัตกรรมร่วมกับ CPAC นำโดย นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม โดยยึดหลักบรรษัทภิบาลและการคิดนอกกรอบ ถือเป็นการใช้จุดแข็งเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านงานก่อสร้างต่อยอดเป็นโซลูชัน เพื่อแก้ไขและตอบโจทย์เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้แก่ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น
นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน -บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC และ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่างสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทสำคัญด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย กับองค์กรธุรกิจภาคเอกชนในโครงการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำ ที่ร่วมบูรณาการองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันให้ชุมชนได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในการทำอาชีพเกษตรกรรม และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ถือเป็นการสร้างสรรค์สังคมสีเขียว (Green Society) พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความอยู่ดี กินดีมากยิ่งขึ้น นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อสานประโยชน์สู่ชุมชนอย่างแท้จริง โดยการลงนามครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องบัญชาการ ชั้น 2 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึง การลงนามร่วมกับบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC ว่า "การบูรณาการองค์ความรู้โดยผู้มีความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก ร่วมกับความชำนาญของ สสน. ในเรื่องระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เทคโนโลยีสำรวจ และการบริหารจัดการน้ำชุมชน จะช่วยส่งเสริมและขยายผลให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย ในการร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนและท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนสามารถมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และเกษตร ตลอดทั้งปี จึงได้นำร่องเป็นโครงการที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบสารสนเทศ รวมทั้งขยายผลไปยังหน่วยงานราชการ ชุมชน ให้สามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศ"
นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัทผลิตภัณฑ์และ วัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC กล่าวว่า CPAC พร้อมสนับสนุนนโยบายสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ทั้งการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ และตามความมุ่งหวังของ CPAC ที่จะยกระดับความสามารถ เข้าสู่ Green Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ไม่หยุดนิ่งต่อการเรียนรู้และขยายโอกาสการสร้างธุรกิจพร้อมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอสซีจีที่ยึดหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) และมุ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้ง Value Chain ตามหลัก Creating Share Value โดยคำนึงถึงผลกระทบและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
"CPAC และ สสน. มีแผนนำร่องโครงการโดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
กลุ่มที่ 1 เทคโนโลยีการสำรวจ เพื่อการประเมินน้ำผิวดิน ใต้ดิน โครงสร้างใต้ท้องน้ำ ได้อย่างแม่นยำและมีมาตรฐาน โดยกำหนดเป้าหมายหลักภายในปี 2565 จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาเรือสำรวจอัตโนมัติ เพื่อสำรวจโครงสร้าง ใต้ท้องน้ำ การออกแบบและต่อยอดนวัตกรรม จะต้องขยายผลไปสู่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและเข้าถึงได้
กลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีการจัดการน้ำชุมชน โดยคิดรอบด้านตั้งแต่ระบบกระจายน้ำ สำรองน้ำ การพัฒนาโรงเรือน การเก็บดูแลรักษา ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตผลทางการเกษตร ด้วย Solar Pump พร้อมระบบถังสูง ขยายผลไปยังชุมชนที่สอดรับกับการทำเกษตรกรรมท้องถิ่น ช่วยให้ชุมชนมีรายได้อย่างมั่นคง จากการทำเกษตรกรรมที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งปี ซึ่งวางเป้าหมายไว้ภายในปี 2565 จะสามารถขยายผลไปทั่วประเทศ รวมทั้งถอดแนวคิด ศึกษารายละเอียด เทคโนโลยีสำหรับการทำโรงเรือนมาตรฐานสำหรับเกษตรกรแบบครบวงจร โดยใช้หลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนเกษตรกรรมได้อย่างครบวงจร" นายปัญญา กล่าว
ดังนั้น การลงนามที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่จะร่วมพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมให้ชุมชมและการทำเกษตรท้องถิ่นมีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแบบอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนานาโซลูชัน เพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำและการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ หา เก็บ ใช้ และจัดการที่เป็นระบบอย่างยั่งยืน
ที่มา: เอสซีจี