แต่อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเดือน ต.ค. จนกระทั่งปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัว ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ในการประชุมครั้งนี้ (แม้จะไม่มีการลงมติผ่าน Dot Plot อย่างเป็นทางการ แต่อาจมีการส่งสัญญาณถึงทิศทางดอกเบี้ยที่กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนผ่านในปีหน้า) และต่อเนื่องด้วย Dot Plot ที่จะมีในการประชุมเดือน ธ.ค. น่าจะเห็นการให้น้ำหนักขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง พลิกมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ ปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะเป็นจุดตัดสินใจการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ Fed สำหรับการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ Fed โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤต COVID-19 อยู่บนความความไม่แน่นอน ซึ่งผู้กำหนดนโยบายเองก็มีความยากลำบากในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสัญญาณที่ขัดแย้งกัน อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว ตามราคาน้ำมันดิบ เป็นภาวะของ Cost Push Inflation ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ Fed ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอผลกระทบเชิงลบ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจภาคแรงงาน นำโดย อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ (Unemployment Rate) และอัตราการมีส่วนร่วมกับตลาดแรงงาน (Labor Force Participation Rate) ที่ในปัจจุบันยังอยู่ในจุดที่แย่กว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญ
หากประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร จะเห็นได้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะเร็วขึ้น (เร็วกว่า Dot Plot ครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นมุมมองอย่างเป็นทางการของ Fed) น่าจะส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเริ่มชะลอความร้อนแรงลง เป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะสะท้อนมาในดัชนีชี้นำอย่าง PMI ภาคการผลิตทั่วโลกให้เริ่มฟื้นตัว แต่ในทางตรงข้ามอาจกระทบต่อต้นทุนทางด้านการเงิน (Cost of Fund) ของบริษัท และต้นทุนการกู้ยืมประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคและการลงทุน ได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีทั้งผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้น แต่หากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจ และประชาชน สามารถปรับตัวได้ล่วงหน้า คาดว่าน่าจะ Net เป็น Slightly Positive ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยโดยรวม
ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย หากประเมินภาพของสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม การปรับขึ้นดอกเบี้ย (รวมไปถึงมาตรการด้านการเงินแบบเข้มงวดด้านอื่นๆ) ถือว่าส่งผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากเป็นการดูดสภาพคล่องออกจากตลาด อย่างไรก็ตาม บริบทของแต่ละตลาดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งถือว่าอยู่ในสถานะที่น่าจะโดนผลเชิงลบจำกัด เนื่องจาก 1.กระแสเงินลงทุนไม่ได้ไหลเข้ามาเลยในช่วงที่ Fed ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -2.51 แสนล้านบาท ในช่วง ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน) 2.เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วง 3Q64 ซึ่งเป็นช่วงที่ COVID19 สายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาด จนส่งผลให้ต้องล็อคดาวน์ นอกจากนี้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ นำโดย ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) รวมทั้งตัวเลขส่งออกฟื้นตัวทำจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน
โดยมองว่ากลุ่มหุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์ จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่มีโอกาสเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นเร็วขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. (ในกรณีที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง) หรือ ธ.ค. (ในกรณีที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง) หากมองภาพโดยรวมไม่เป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามในเชิงของกลยุทธ์การลงทุน ยังมีกลุ่มหุ้นบางกลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยเริ่มเข้าสู่รอบขาขึ้นเช่นกัน หนุน NIM ฟื้นตัว บวกกับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ (เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.) ลดความเสี่ยงจากหนี้เสีย การตั้งสำรองลดลง Top Picks: KBANK SCB BBL 2.กลุ่มท่องเที่ยว ถือเป็นหุ้น Domestics ที่มีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัว ผลกระทบเชิงลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจำกัด ในขณะเดียวกันได้ประโยชน์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (โดย สศช. คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 ที่ระดับ 1.7 แสนราย) Top Picks: AOT MINT
ที่มา: บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)