องค์กรโลก ยกย่องอาจารย์จุฬาฯ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ หนึ่งในนักเคมีสตรีของโลกรางวัล IUPAC ปีล่าสุด

พฤหัส ๐๔ พฤศจิกายน ๒๐๒๑ ๐๙:๐๕
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 12 สุดยอดนักเคมีสตรีขององค์กรโลกด้านเคมี ประจำปี 2021 จากองค์การนานาชาติด้านเคมีและเคมีประยุกต์ หรือ IUPAC (International Union of Pure and Applied Chemistry) อาจารย์จุฬาฯ เผยแรงบันดาลใจในการพัฒนาการสอนวิชาเคมีจนได้รับการยกย่องระดับสากล เปิดใจถึงแนวทางการสร้างสมดุลงานและบทบาทในครอบครัว รวมถึงความพยายามพัฒนาให้เยาวชนสนใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างทั่วถึง ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

นับตั้งแต่องค์การสหประชาติประกาศกำหนดให้ปี 2554 เป็นปีเคมีสากล (International Year of Chemistry) เพื่อฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการที่ มาดามมารี กูรี นักวิทยาศาสตร์สตรีคนแรกได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 1911 (พ.ศ.2454) องค์การนานาชาติด้านเคมีและเคมีประยุกต์ (IUPAC) ก็ได้พิจารณามอบรางวัลเชิดชูเกียรติ IUPAC Distinguished Women in Chemistry or Chemical Engineering ให้กับนักเคมีสตรีหรือวิศวกรเคมีสตรีทั่วโลกที่มีผลงานโดดเด่นระดับนานาชาติเป็นปีแรก และพิจารณามอบรางวัลนี้ทุกๆ 2 ปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นักเคมีสตรีไทยไม่ได้น้อยหน้าชาติใดในโลก ในปี 2554 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับรางวัลนี้ในปีแรกของการมอบรางวัลดังกล่าว

หนึ่งทศวรรษผ่านไป ล่าสุด ปี 2564 ประเทศไทยก็ได้ภูมิใจอีกครั้งเมื่อหนึ่งใน 12 นักเคมีสตรีจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินี้ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มักไม่ค่อยปรากฏมีนักเคมีสตรีก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับแนวหน้ามากนัก จึงเกิดความริเริ่มกำหนดนโยบายส่งเสริมนักเคมีสตรี ซึ่งเป็นที่มาของรางวัลนี้ โดยเกณฑ์ในการตัดสินผู้ได้รับรางวัลจะพิจารณาจากผลงานวิจัย ความเป็นผู้นำ และการทำประโยชน์ให้กับสังคมโลก" ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวถึงรางวัล IUPAC Distinguished Women in Chemistry or Chemical Engineering ที่ได้รับจากความทุ่มเทตลอดระยะเวลา 40 ปี เพื่อวิจัยและพัฒนาการสอนวิชาเคมี สร้างครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบ และกระตุ้นเยาวชนให้สนใจวิทยาศาสตร์ ทั้งในประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก นอกจากนี้ ศ.ดร.ศุภวรรณ ยังเป็นสตรีที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในสถาบันด้านวิทยาศาสตร์หลายแห่งทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางงานเคมี : Small Lab Kit

หนึ่งในงานวิจัยสำคัญที่ทำให้ ศ.ดร.ศุภวรรณ มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติคือการพัฒนาด้าน ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) โดยเฉพาะชุด Small Lab Kit ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร รวม 4 ฉบับในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.ศุภวรรณ เล่าถึงที่มาของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกๆ ว่า "หลังที่อาจารย์ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลับมาจุฬาฯ ได้สอนวิชาปฏิบัติการเคมี สมัยนั้น ห้องแล็บที่ใช้สอนอยู่ที่อาคารเรียนเดิมคือตึกเคมี 1 (ปัจจุบันคืออาคารศิลปวัฒนธรรม) และตึกเคมี 3 (ปัจจุบันคือ อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งในแต่ละปีจะมีนิสิตชั้นปีที่ 1 จากคณะต่างๆ ในสายวิทยาศาสตร์ในจุฬาฯ มาเรียนวิชาปฏิบัติการเคมีทั่วไป (General Chemistry Laboratory) และวิชาปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ (Organic Chemistry Laboratory) ที่ภาควิชาเคมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ถึงกว่า 3,000 คนต่อปี จึงเกิดความแออัดในห้องแล็บ แถมระบบความปลอดภัยทางเคมีก็ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าสมัยนี้ อาจารย์จึงสนใจคิดหาวิธีทำแล็บเคมีที่ปลอดภัยมากขึ้น และยังคงการเรียนการสอนแบบเดิมได้อย่างครบถ้วน"

จากแนวโน้มของปัญหาดังกล่าว ศ.ดร.ศุภวรรณ ศึกษาค้นคว้า พัฒนา และดำเนินการด้านความปลอดภัยทางเคมีอย่างต่อเนื่อง จนได้ริเริ่ม "โครงการปฏิบัติการเคมีบนพื้นฐานของความปลอดภัยทางเคมีและการลดมลพิษ" โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ปัจจุบันคือ สกสว.) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำร่วมกับนักวิจัยรวม 14 คน จาก 7 สถาบัน ได้แก่ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีระยะเวลาโครงการระหว่างปี พ.ศ.2543-2545

"เริ่มแรก เราพยายามศึกษาเพื่อพัฒนาการทดลองที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยกว่าแบบเดิมในทุกขั้นตอน ด้วยการคัดเลือกการทดลองที่ใช้สอนในมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ แล้วนำมาพิจารณาออกแบบวิธีใหม่ในการทำการทดลอง ค้นหาสารหรือวัสดุที่มีความเป็นอันตรายต่ำแทนการใช้สารเคมีเดิม และพยายามลดขนาดการทดลองเท่าที่ยังคงทำให้ได้ผลการทดลองที่ดี โดยยังคงรูปแบบการเรียนรู้ที่นักศึกษาจะได้รับเหมือนเดิมและใช้อุปกรณ์และเครื่องแก้วแบบเดิม แต่พบว่า นั่นยังไม่ตอบโจทย์หลักของเราเลย"

ทีมวิจัยในโครงการเห็นพ้องกันว่าต้องใช้เทคนิคที่เรียกว่า เคมีแบบย่อส่วน (microscale chemistry หรือ small scale chemistry) เป็นการใช้สารเคมีปริมาณน้อยที่สุด แต่ยังคงทำให้สังเกตเห็นผลการทดลองได้ชัดเจน

"จากการทดลองแบบเดิมที่ต้องใช้สารเคมีเป็นร้อยมิลลิลิตร เราลดเหลือแค่ 1-5 มิลลิลิตร หรือลดเหลือปริมาตรเป็นหยด คือลดลงเป็นร้อยเท่าพันเท่า ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของโอกาสเกิดอันตรายจากการได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายลงเป็นร้อยเท่าพันเท่าเช่นกัน ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นขณะทำการทดลอง และมีของเสียที่ต้องกำจัดน้อยลงมาก" ศ.ดร.ศุภวรรณ อธิบาย

เมื่อการทดลองมีการปรับให้เป็นแบบย่อส่วน ก็จำเป็นต้องมีการออกแบบวิธีการทดลองใหม่ รวมทั้งออกแบบอุปกรณ์และเครื่องมือแบบใหม่ให้เหมาะสมด้วย

"ในปฏิบัติการเคมีทั่วไป การทดลองส่วนใหญ่ใช้สารละลายในน้ำ จึงสามารถใช้อุปกรณ์พลาสติกที่ใช้ในทางเทคนิคการแพทย์และจุลชีววิทยาได้ ซึ่งหาซื้อได้ในท้องตลาด แต่การทดลองในปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ ต้องใช้ความร้อนและใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ซึ่งจะละลายพลาสติกได้ จึงต้องใช้อุปกรณ์ที่ทำจากแก้วหรือวัสดุอื่น"

ศ.ดร.ศุภวรรณ อธิบายต่อไปว่าแม้ว่าจะมีเครื่องแก้วขนาดเล็กผลิตขายในต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ราคายังสูงอยู่ และยังไม่มีอุปกรณ์ให้ความร้อนที่มีขนาดเหมาะสม โครงการฯ จึงได้ออกแบบชุดเครื่องแก้วขนาดเล็ก และชุดอุปกรณ์ให้ความร้อน รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ครบถ้วน พร้อมใช้ในการจัดตั้งการทดลอง บรรจุในกระเป๋าหิ้ว เรียกชุดที่ออกแบบนี้ว่า Small Lab Kit

"การออกแบบอุปกรณ์ทุกชิ้นคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสะดวกในการใช้งาน ความปลอดภัยและการลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการทดลอง และต้องผลิตในประเทศไทยได้ อย่างชุดอุปกรณ์ให้ความร้อนขนาดเล็ก เราได้ออกแบบฮ็อตเพลตและบล็อกอลูมิเนียมที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ช่วยกระจายความร้อนให้ใช้งานกับเครื่องแก้วขนาดเล็กได้หลายขนาด สามารถใช้หาจุดเดือดและจุดหลอมเหลวของสารได้เบ็ดเสร็จในชุดนี้ แล้วยังได้ออกแบบเครื่องแก้วที่สามารถแยกตัวทำละลายออกและเก็บมาใช้ซ้ำได้อีก ไม่ต้องกำจัดหรือเททิ้งไป ทำให้ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือของเสียที่มาจากห้องปฏิบัติการเคมีอินทรีย์"

ชุด Small Lab Kit ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization, UNESCO) รวมถึงมีการเผยแพร่เอกสารวิธีการใช้งานชุด Small Lab Kit อย่างละเอียดไว้ในเว็บไซต์ของ UNESCO ด้วย และตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ศ.ดร.ศุภวรรณ ได้รับเชิญไปบรรยายและทำเวิร์คชอปเพื่อเผยแพร่ชุด Small Lab Kit ในหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย

สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน : ห้องเรียนเคมีดาว

จากความสำเร็จของงานวิจัย ต่อยอดไปสู่อีกหนึ่งโครงการสำคัญ "โครงการห้องเรียนเคมีดาว" อันเป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) ซึ่งเป็นบริษัทด้านอุตสาหกรรมเคมีที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาเคมีด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้กับนักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา

"อาจารย์ตั้งใจจะทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์ของทุกโรงเรียนมีความน่าสนใจสำหรับนักเรียนด้วยการได้ลงมือทำการทดลองเอง เรามีข้อมูลว่าที่นักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนวิทยาศาสตร์เนื่องมาจากไม่มีความประทับใจแรกต่อวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน เท่าที่สอบถามมา นักเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำการทดลอง เลยคิดว่าถ้าเราเอางานวิจัยนี้ไปถ่ายทอดเพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ได้ ก็น่าจะทำให้เด็กสนใจเรียนด้านนี้มากขึ้น" ศ.ดร.ศุภวรรณ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการริเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2545 ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล และต่อมาได้พัฒนาเป็น "โครงการห้องเรียนเคมีดาว" ตั้งแต่ปี 2556 จนปัจจุบัน ด้วยการสนับสนุนจากบริษัท ดาวเคมิคอล ประเทศไทย

"แนวคิดโครงการห้องเรียนเคมีดาวเป็นการออกแบบชุดการทดลองให้โรงเรียนต่างๆ นำไปให้นักเรียนได้ลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้ สังเกต และจดจำกระบวนการและปฏิกิริยาเคมีได้ลึกซึ้งมากกว่าการเรียนเฉพาะที่อ่านจากในตำราอย่างเดียว" ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าว

ในปัจจุบัน ชุดการทดลองของโครงการห้องเรียนเคมีดาวนำเสนอ 8 สาระการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการเคมีทั่วไป (General Chemistry) ในระดับมัธยมศึกษา แต่ละชุดการทดลองบรรจุในกล่องขนาดกะทัดรัดประกอบด้วยอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในการทำการทดลองครบถ้วน พร้อมใช้งาน มีคู่มือการทดลอง วิธีการจัดเก็บสารเคมีที่เหลือให้สามารถใช้ทำการทดลองครั้งต่อไปได้อีกประมาณ 30 ครั้ง และสามารถเติมสารเคมีที่หมดเพื่อใช้ทำการทดลองต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะวัสดุพลาสติกที่ใช้ในชุดอุปกรณ์นั้นมีความทนทานและมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี

"เราทำทั้งเรื่องการลดสเกลของการทดลอง เปลี่ยนสารเคมีให้เป็นไปตามหลักการของเคมีกรีน (Green Chemistry) มากขึ้น ได้แก่ เลือกใช้สารเคมีที่ไม่มีอันตรายหรือมีอันตรายน้อยลงมาใช้ในการทดลอง ทำให้นักเรียนและครูผู้สอนมีความปลอดภัยมากกว่าวิธีการทดลองแบบเดิม นอกจากนี้ ปริมาณการใช้สารเคมีที่ลดลงกว่าเดิมพันเท่าก็ทำให้การทดลองใช้เวลาน้อยลง สามารถทำเสร็จได้ในคาบเรียนปกติ มีเวลาเหลือในการอธิบายและซักถาม ใช้พลังงานและวัสดุอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย และยังมีของเสียที่เกิดจากการทดลองน้อยมาก"

"ห้องเรียนเคมีดาว" เป็นห้องเรียนสำหรับปฏิบัติการเคมีที่มีต้นทุนต่ำ มีความปลอดภัยสูง สามารถทำการทดลองได้ในห้องเรียนปกติ ราคาต่อชุดเพียง 300-400 บาท ขึ้นอยู่กับการทดลองแต่ละเรื่อง หรือเท่ากับว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการทำการทดลองประมาณ 10 บาทต่อครั้ง

"ห้องเรียนเคมีดาวประหยัดทั้งต้นทุน แรงงาน และเวลา แต่เรียนรู้ได้สะดวกและง่ายขึ้น แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน นักเรียนก็ยังสามารถทำปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลแนะนำจากครูที่อยู่ในระบบออนไลน์เช่นกัน" ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าว

ภารกิจสร้างครูวิทย์ฯ ในไทยและภูมิภาคอาเซียน

โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" ไม่เพียงออกแบบและจัดทำชุดการทดลองที่โรงเรียนต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ แต่จุดเน้นที่สำคัญคือการสร้างครูวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษา โดยที่ผ่านมา ครูวิทยาศาสตร์เกือบ 2,000 คน จากกว่า 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้เข้ารับการอบรมเรียนรู้ทักษะเกี่ยวกับเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนใน 8 การทดลอง ซึ่งครูกลุ่มนี้ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้ครูท่านอื่นเกือบ 6,000 คน ทำให้มีนักเรียนได้รับประโยชน์ในการเรียนรู้วิชาเคมีที่ได้สัมผัสและทดลองด้วยตัวเองอีกมากกว่า 150,000 คน

เบิ้องหลังความสำเร็จคือความทุ่มเทจากหลายฝ่าย ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าว "ทุกคนอาสามาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สมาคมเคมีฯ เพื่อนสนิทมิตรสหายที่เป็นอาจารย์สอนเคมีในสถาบันการศึกษาต่างๆ บรรดาลูกศิษย์ลูกหา บริษัทภาคเอกชน ฯลฯ อาจารย์จึงให้ความสำคัญกับภารกิจนี้ค่อนข้างมาก ทั้งการพยายามแสวงหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการจัดหาจัดทำชุดอุปกรณ์ต่างๆ การประสานงานในการจัดอบรมครูครั้งละ 100-200 คน ปีละกว่า 400 คน โดยครูทุกท่านที่เข้าอบรมจะได้รับชุดการทดลองกลับไปสอนที่โรงเรียน เป็นชุดการทดลองเบื้องต้นเพื่อให้ใช้สอนได้เลย เพื่อให้นักเรียนสามารถลงมือทำการทดลองได้เองเพื่อเกิดการเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จากประสบการณ์ตรง"

นอกจากการอบรม ศ.ดร.ศุภวรรณ ยังได้ริเริ่มอีกหลายกิจกรรมเพื่อติดตามและช่วยเหลือครูในการสอนวิทยาศาสตร์ หนึ่งในกิจกรรมคือการจัดการประกวด "โครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST Award" โดยสมาคมเคมีฯ ได้ขอพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มอบให้ผู้ชนะการประกวด และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย สนับสนุนเงินรางวัลให้กับทีมต่างๆ ที่มีผลงานดีเด่น รวมทั้งคัดเลือกครูต้นแบบในแต่ละปี เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ครูต้นแบบเป็นวิทยากรปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนต่อไปด้วย

"ปัจจุบัน โครงการฯ มีครูต้นแบบกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมจำนวน 84 คน จน IUPAC ชื่นชมว่าเป็นโครงการที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนอย่างยั่งยืนต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 แล้ว" ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวด้วยความภูมิใจ และเสริมว่าในปี 2564 นี้ โครงการห้องเรียนเคมีดาวได้ขยายเข้าสู่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศมากขึ้นด้วยความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเรียนการสอนของโครงการห้องเรียนดาวก็ยังไปต่อได้โดยไม่สะดุด โดยตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาด โครงการฯ ก็ได้เริ่มทดลองจัดการอบรมครูในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก

"การอบรมออนไลน์ทำให้ต้องมีการประสานงานและการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เข้าอบรมกับทีมงานอบรมหลายครั้ง เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการอบรมทุกขั้นตอน แต่ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในปีนี้เราจึงจัดการอบรมในรูปแบบออนไลน์เป็นปีที่ 2 และเปิดโอกาสให้อาจารย์เคมีจากทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ขณะนี้ทางภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็กำลังเตรียมการเพื่อนำไปปรับใช้เช่นเดียวกัน โดยภาควิชาจะจัดส่งชุดอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับนิสิตได้ลงมือทำจริงขณะเรียนออนไลน์" ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าว

ระหว่างที่โครงการในประเทศไทยดำเนินไปด้วยดี ศ.ดร.ศุภวรรณ ก็เริ่มเห็นโอกาสในการขยายโครงการออกไปสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่มีปัญหาของการเรียนวิทยาศาสตร์คล้ายกับในประเทศไทย โดยได้ขอรับการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสาขาในประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน จัดทำโครงการเพื่อสังคม (CSR) ในประเทศนั้นๆ ดำเนินการจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา โดยได้ดำเนินการแล้วในประเทศเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย และกำลังจะเริ่มโครงการที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปีต่อไป

ศ.ดร.ศุภวรรณ เล่าว่าลักษณะโครงการในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นการอบรมครูวิทยาศาสตร์ปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 100 คนต่อเนื่องประเทศละ 3 ปี แล้วคัดเลือกครูต้นแบบจากผลงานการออกแบบการทดลองปีละ 10 คน เพื่อให้มาอบรมเพิ่มเติมที่ประเทศไทยร่วมกับครูจากประเทศต่าง ๆ พัฒนาต่อให้มีความเชี่ยวชาญสามารถเป็นวิทยากรปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนได้ เมื่อจบโครงการในแต่ละประเทศแล้ว จะมีครูต้นแบบ 30 คน ที่ได้รับการพัฒนาเป็นวิทยากรปฏิบัติกรเคมีแบบย่อส่วน เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดให้กับครูในแต่ละประเทศต่อไปได้ ซึ่งสิ่งที่ ศ.ดร.ศุภวรรณ หวังว่าจะเกิดขึ้นตามมาคือเครือข่ายครูในอาเซียนรวมถึงในประเทศไทยที่จะร่วมกันพัฒนาและขยายผลการเรียนการสอนปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในภูมิภาคนี้

นำพาไทยสู่แผนที่เคมีระดับโลก

นอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ศ.ดร.ศุภวรรณ ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในวงการด้านวิทยาศาสตร์และเคมีทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติมากมาย อาทิ นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ฯ นายกสมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทย ประธานสมาพันธ์โพลิเมอร์แห่งภาคพื้นแปซิฟิก (President of Pacific Polymer Federation, 2002-2003) และประธานสมาพันธ์สมาคมเคมีแห่งทวีปเอเซีย (President of Federation of Asian Chemical Societies, 2011-2013) เป็นสตรีคนแรกที่ขึ้นมาเป็นผู้นำในทั้ง 2 ตำแหน่งสำคัญในระดับภูมิภาค

ในทุกตำแหน่งที่รับผิดชอบ ศ.ดร.ศุภวรรณ ได้สร้างโอกาสและพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2550-2556 ที่อาจารย์เป็นนายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อาจารย์ได้ผลักดันให้สมาคมเคมีฯ เข้าเป็นสมาชิกของ IUPAC ประเภท National Adhering Organization (NAO) ด้วยความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น สามารถออกเสียงและเสนอข้อคิดเห็นได้ อันจะส่งผลต่อการพัฒนางานด้านเคมีและวิทยาศาสตร์ของประเทศ

ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวถึงบทบาทขององค์การนานาชาติด้านเคมีว่า "IUPAC ประกอบด้วยสมาคมเคมีหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องทางด้านเคมีที่เป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีภารกิจเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้และความก้าวหน้าทางด้านเคมีให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในหมู่นักวิจัย นักวิชาการ และนักอุตสาหกรรมทั่วโลก อาทิ การกำหนดวิธีเรียกชื่อธาตุ สารประกอบ และสัญลักษณ์ทางเคมีให้เป็นระบบเดียวกัน รวมถึงทำหน้าที่เชิดชูและส่งเสริมการทำงานของนักเคมีและวิศวกรเคมีทั่วโลก ตั้งแต่ในระดับเยาวชนจนถึงนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล"

ชีวิตการทำงานและแรงบันดาลใจสู่ความสำเร็จระดับโลก

ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่าความสำเร็จต่างๆ ในวิชาชีพด้านเคมีเกิดขึ้นได้เพราะ "โอกาส" ที่เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์

"อาจารย์เป็นเด็กต่างจังหวัด (จังหวัดราชบุรี) ตรงนี้เองที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องเรียนให้ดี พอตั้งใจจริงๆ ก็ทำได้ สามารถสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ โชคดีที่ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนให้เรียน จนค้นพบความถนัดของตัวเอง นั่นคือวิชาเคมี"

"ตอนเรียนจบปริญญาตรีในปี 2516 ยังมองไม่เห็นโอกาสในการเลือกอาชีพการทำงานเท่าไร เพราะสมัยนั้นงานในสาขาเคมีนี้บริษัทต่างๆ มักจะรับแต่ผู้ชาย โอกาสของเราจึงเห็นอยู่ที่การเป็นอาจารย์ ซึ่งหมายถึงต้องเรียนในระดับที่สูงขึ้นไปอีก" ศ.ดร.ศุภวรรณ เล่าย้อนถึงช่วงที่ต้องเลือกเส้นทางสำคัญในชีวิต

หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทด้านเคมีอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เข้าเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเคมี จุฬาฯ และได้รับทุนจุฬาฯ-ฟูลไบรท์ ไปศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอกด้านเคมีจาก Worcester Polytechnic Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา ศ.ดร.ศุภวรรณ ก็กลับมาสอนที่ภาควิชาเคมี จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน

ช่วงแรกที่กลับมาสอนที่จุฬาฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 1 ที่รัฐบาลได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ศ.ดร.ศุภวรรณ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างหลักสูตรด้านปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ ร่วมกับอาจารย์อีก 3 ท่าน จากภาควิชาเคมีเทคนิค ภาควิชาวัสดุศาสตร์ และภาควิชาวิศวกรรมเคมี จนเกิดเป็นหลักสูตรด้านปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ ศ.ดร.ศุภวรรณ ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ของจุฬาฯ (2529-2532) ด้วย

"โอกาสเหล่านี้ทำให้อาจารย์ได้พบปะผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มบริษัทปิโตรเคมี ก็เลยได้เข้าใจธรรมชาติการทำงานของอุตสาหกรรม ที่เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ และได้เห็นว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่าที่เป็นอยู่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมได้ ทำให้เราต้องมาปรับเนื้อหาการสอนของตัวเอง"

ในความเป็นอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ ศ.ดร.ศุภวรรณ ให้ความสำคัญกับวิชาความรู้คู่คุณลักษณะภายในใจ "การเรียนการสอนต้องไม่เน้นเพียงทฤษฎีและวิชาการ แต่ต้องบ่มเพาะคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของจุฬาฯ ทั้งการใฝ่รู้ มีคุณธรรมและจริยธรรม สิ่งเหล่านี้ต้องเข้าไปอยู่ในใจและในการทำงานภาคอุตสาหกรรม เช่น ตระหนักเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เป็นต้น"

บทบาทความเป็นสตรีนักเคมีกับการดำรงชีวิตครอบครัวประจำวัน

แม้ว่าโลกปัจจุบันจะยอมรับในบทบาทและความสามารถของผู้หญิงในแวดวงอุตสาหกรรมเคมี และมีผู้หญิงเก่งจำนวนมากในวิชาชีพด้านเคมีและวิศวกรรมเคมี แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายสำหรับนักวิทยาศาสตร์สตรีคือ การควบรวมบทบาทของความเป็นมืออาชีพด้านเคมี กับความเป็นแม่และงานบ้านในครอบครัว ซึ่ง ศ.ดร.ศุภวรรณ พยายามบริหารสมดุลทั้งสองบทบาทได้เป็นอย่างดี

"สมัยที่ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มบริษัทปิโตรเคมี พร้อมๆ กับงานประจำในฐานะอาจารย์ของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สี่โมงครึ่งจะมีคนขับรถของบริษัทมารอแล้ว อาจารย์ต้องใช้เงินส่วนตัวจ้างผู้ช่วยมาทำงานธุรการและติดต่อประสานงานต่างๆ ต้องแพลนทุกอย่างล่วงหน้า ต้องทำกับข้าวให้เสร็จเรียบร้อย จัดหาของใช้ในครอบครัวให้มีไม่ขาดมือ จัดการให้ลูกทำการบ้านเสร็จทุกวัน คือมีหลายสิ่งต้องจัดการเยอะมาก เพื่อทำให้ยังคงความเป็นครอบครัวที่มีความสุข นี่คือภาระของผู้หญิง แค่เรื่องการดูแลครอบครัวก็จะแย่แล้ว อาจารย์โชคดีที่มีตัวช่วย มีสามีที่เข้าใจและรับรู้ว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อสังคม พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในทุกเรื่องทั้งในบ้านและนอกบ้านที่สามารถช่วยได้เสมอ"

การทำสิ่งนี้ได้ต้องอาศัย "วินัย และทักษะการบริหารจัดการ" ซึ่ง ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่าเป็นคุณสมบัติที่เธอได้รับตกทอดมาจากคุณแม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 97 ปีและยังมีสุขภาพแข็งแรง

"คุณแม่มีลูกทั้งหมด 10 คน อาจารย์เป็นคนที่ 3 คุณแม่เป็นคนเก่งมากและอดทน ท่านเลี้ยงลูกทุกคนเองทั้งหมด เราในฐานะลูกมือของท่านคือได้เห็นหมดเลยว่าท่านบริหารจัดการอย่างเป็นระบบอย่างไร ทั้งงานบ้าน งานครัว การดูแลคนในบ้าน และการช่วยดูธุรกิจในร้านขายยาจีนของคุณพ่อ ทั้งหมดนี้คือเราได้มาจากคุณแม่ตั้งแต่แรก"

บทบาทของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศของสตรี (gender equality) เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ซึ่ง ศ.ดร.ศุภวรรณ มองว่าต้องไม่ใช่แค่เรื่องการยอมรับเท่านั้น แต่ควรหมายรวมถึงการส่งเสริมความสามารถและศักยภาพที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะกับเพศใดก็ตาม

อนาคตวิทยาศาสตร์ที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ปัจจุบัน ศ.ดร.ศุภวรรณ ยังคงมุ่งมั่นทำทุกหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยเน้นไปที่การสร้างรากฐานด้านความเข้าใจและความสำคัญของวิทยาศาสตร์ให้กับอนาคตของประเทศ

"เทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมค่อนข้างน่าเป็นห่วง เช่น แนวคิดเรื่องอายุน้อยอยากมีเงินร้อยล้าน แนวคิดแบบมุ่งแต่จะประสบความสำเร็จให้ได้อย่างรวดเร็ว มองภาพสวยงามว่า "ฉันจะต้องรวยแบบง่ายๆ ไม่อยากลำบาก" ยกตัวอย่างเช่น การค้าขายออนไลน์แบบซื้อมาขายไป แต่ไม่มีความรู้พื้นฐาน ไม่สร้างเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมา ต้องพึ่งพาคนอื่นและปัจจัยภายนอก ในอนาคตถ้าเขาไม่ขายเทคโนโลยีให้จะเกิดอะไรขึ้น อาจารย์จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ในรุ่นต่อๆ ไปเปลี่ยน mindset ให้คิดแบบยั่งยืนมากกว่าเดิม" ศ.ดร.ศุภวรรณ สะท้อนข้อห่วงใย

ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ศ.ดร.ศุภวรรณ ทำงานใกล้ชิดกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และอีกหลายหน่วยงาน ในความพยายามสื่อสารให้เยาวชนไทยรุ่นใหม่รับรู้เบื้องหลังและเบื้องลึกของความสำเร็จที่ไม่ฉาบฉวย ด้วยตรรกะและเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์

ศ.ดร.ศุภวรรณ เชื่อในการลงมือทดลองทำต่อความท้าทายใหม่ๆ และการสร้างพลังเสริมจากความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ดังนั้น ตลอดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมา อาจารย์จะเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและบุคลากรต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะ ในด้านที่สามารถนำมาเสริมส่วนที่ขาดหายไปของกันและกันได้ เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าไปสู่เวทีทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติให้ได้เสมอ ทุกครั้งเมื่อโอกาสเปิดให้

"ประเทศเรามีคนเก่งเยอะมาก แต่ยังขาดการสร้าง partnership เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้า เราทำเองลำพังไม่ได้หรอกเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ตอนนี้ อาจารย์ก็เริ่มเห็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เริ่มขยับว่าเราจะเป็นวิทยาศาสตร์แบบโดดๆ ไม่ได้ ต้องทำร่วมกับชุมชนและได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว อย่างนี้ โอกาสที่ประเทศเราจะก้าวหน้าและสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติมีสูงมาก" ศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง

 

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๓๑ SCBX โชว์ความสำเร็จขับเคลื่อนองค์กรสู่ AI-first Organization คว้ารางวัล CIO100 ASEAN Award จากเวทีชั้นนำระดับสากล
๑๓:๓๕ ร้านอาหารไทย จิม ทอมป์สัน คว้ารางวัล Thai Dining Experience จาก Lifestyle Travel Awards 2024 ขึ้นแท่นสุดยอดร้านอาหารที่มอบประสบการณ์รับประทานอาหารอันน่าจดจำ
๑๓:๓๑ แรบบิท ประกันชีวิต Leve Up ความคุ้มส่งท้ายปีให้ ผู้ใช้แรงเงิน จัดการเงินก่อนที่เงินจัดการเรา กับ 4 ประกันลดหย่อนภาษีรับโค้งสุดท้าย ร่วมงานมหกรรมการเงินกรุงเทพส่งท้ายปี ครั้งที่
๑๓:๐๕ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการอาหารและเครื่องดื่ม ในเครือ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลเหรียญทอง จากงาน TAIPEI INTERNATIONAL CULINARY CHALLENGE จากสาธารณรัฐจีน
๑๓:๕๗ 4 องค์กรรัฐและเอกชน ร่วมลงนาม MOU ผนึกกำลังยกระดับความรู้ทางการเงินให้ผู้ส่งต่อความรู้ในระบบการศึกษา
๑๓:๔๕ BDMS Wellness Clinic และ BDMS Wellness Resort คว้ารางวัลเกียรติยศ สาขาองค์กรนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จาก Friendly Design Award
๑๓:๕๙ คาร์เทียร์เผยคอลเลคชั่นกำไลข้อมือ LOVE เครื่องประดับไอคอนิค เพิ่มความหลากหลายให้ดีไซน์คลาสสิกเหนือกาลเวลา
๑๓:๕๕ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คว้ารางวัล Sustainability Rising Star จากเวที Asia Corporate Excellence Sustainability Awards
๑๓:๐๐ หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์และนวัตกรรม มจพ. (หลักสูตรใหม่) เปิดรับสมัครนักศึกษา ป.โท ภาคการศึกษาที่
๑๓:๕๔ รับเทศกาลความสุข! คาลพิส-เบบี้มายด์ แท็กทีม น้องเนย จัดหนัก Limited Giftset และของสะสมสุดน่ารัก เอาใจมัมหมี-พ่อหมี