นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บทบาทของบีโอไอนอกเหนือจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาไทยแล้ว ยังรวมถึงการสนับสนุนและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย เพื่อแสวงหาโอกาส ตลาด แรงงาน หรือสิทธิประโยชน์ในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในต่างแดน ที่ผ่านมา บีโอไอโดยกองพัฒนาผู้ประกอบการไทย สนับสนุนนักลงทุนไทย ทั้งการมอบหมายผู้แทนสำนักงานไปประจำการในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย การศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมและประเทศเป้าหมาย การจัดสัมมนา การนำนักลงทุนไปสำรวจลู่ทางการลงทุน ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการศูนย์พัฒนาการลงทุนในต่างประเทศ หรือ Thai Overseas Investment Support Center: TOISC ผ่านหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ" ซึ่งดำเนินการมาแล้วจำนวน 18 รุ่น มีนักลงทุนผ่านการอบรม 609 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ได้ไปลงทุนในต่างประเทศแล้วกว่า 300 ราย ทั้งในภาคการผลิต และบริการ เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์ทางการแพทย์ สุขภาพและความงาม บริการกำจัดขยะ กากอุตสาหกรรมและการบำบัดของเสียจากโรงงาน และธุรกิจประกันภัย เป็นต้น
ส่วนใหญ่การลงทุนอยู่ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในระยะหลังมีการขยายการลงทุนไปยังกลุ่มตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ในแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ตลอดจนแถบแอฟริกา ซึ่งเป็นผลมาจากศักยภาพของนักลงทุนไทยในการขยายการลงทุนและขยายตลาดในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ล่าสุดบีโอไอได้จัดอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ รุ่นที่ 19" โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 50 ราย จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมทางการแพทย์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ บรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ ก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนโลหะและพลาสติก พลังงานและพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมดิจิทัล และโลจิสติกส์ เป็นต้น
"การไปลงทุนในต่างประเทศนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี หลักสูตรการอบรมของบีโอไอจึงเน้นให้ความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่จะเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในเวทีต่างประเทศ เช่น การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ การสร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้ชั้นเชิงการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ และการบริหารจัดการด้านภาษีในประเทศที่ลงทุน การหาแหล่งเงินทุน แต่สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ที่สำคัญที่สุดจากหลักสูตรการอบรมเพื่อสร้างนักลงทุนไทยไปต่างประเทศนี้ คือเครือข่ายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมทั้งในรุ่นเดียวกันและรุ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้อง และในอนาคตกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป" รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าว
ที่มา: ซิน คัมปานี