ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า "กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เล็งเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารการเงิน จึงได้สานต่อกิจกรรมเฟซบุ๊กไลฟ์ "นิว นอร์มอล, มอร์ มันนี่ ซีซั่น 2" แคมเปญสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กรุงศรี คอนซูมเมอร์ (FB: Krungsri Consumer)' เพื่อแนะนำเคล็ดลับดีๆ ในการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชิญกูรูด้านการบริหารเงิน และการหารายได้เสริมจากช่องทางใหม่ ๆ มาร่วมพูดคุยผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน ให้คนรุ่นใหม่สามารถปรับตัวให้ก้าวทันกับโลกการเงินและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคนิว นอร์มอล"
เริ่มต้นที่กูรูท่านแรก ฟลุค-เกริกพล มัสยวาณิช นักแสดง - พิธีกร และนักลงทุนผู้มากประสบการณ์ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการใช้เงินอย่างไรไม่ให้พลาดว่า สิ่งสำคัญ คือ ต้องรู้จักบริหารกระแสเงินสด การวางแผนการลงทุน ควรกันเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ในรูปแบบเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นด้วย ในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ ควรสำรองเงินไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินสัก 6-12 เดือน โดยการเก็บเงิน อาจไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปแบบเงินสดอย่างเดียว แต่อาจเป็นการลงทุนในสิ่งที่เราชอบ (passion investment) โดยเลือกเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามเวลา และเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น การเก็บนาฬิการุ่นที่สามารถปล่อยขายได้ ถือเป็นการเก็บเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง แถมยังทำให้เกิดความสุขและได้ใช้งานด้วย
สำหรับมุมมองในการลงทุน นักแสดงผู้สนใจเรื่องการลงทุน แนะนำว่า "สิ่งสำคัญ คือ การลงทุนอะไรก็ตาม ต้องกระจายความเสี่ยง ไม่ควรลงทุนในรูปแบบเดียว เช่น อาจจะซื้อคอนโดปล่อยเช่า ลงทุนในหุ้น ทำธุรกิจ เพื่อจะได้มีรายได้หลายทาง สำหรับสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม ควรลงทุนตามอายุและความกล้าเสี่ยง ถ้าอายุน้อย ๆ อย่างเด็กเจน Z อยากได้รับผลตอบแทนเร็ว ช่วงนี้หลายคนอาจสนใจลงทุนใน Cryptocurrency (หนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้บนตลาดออนไลน์) หากคิดว่าตนเองเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน และอายุยังน้อย อาจลงทุนในสัดส่วนสูงได้ เพราะเงินทุนยังน้อย แต่จะได้ประสบการณ์มาก แต่หากเป็นกลุ่มที่อายุมาก รับความเสี่ยงได้น้อย ก็อาจลงทุนเสี่ยงสูงไม่เกิน 10-30% ทั้งนี้ ความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการมองเห็นโอกาส เป็นสิ่งสำคัญในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ หากยังไม่มีความเข้าใจที่มากพอ ควรลงทุนแบบที่ความเสี่ยงไม่สูงนัก เช่น ซื้อกองทุนรวม แต่หากมั่นใจว่า มีความรู้ ความเข้าใจตลาด ก็สามารถบริหารการลงทุนเองได้ หากเรามองเห็นโอกาส ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ อย่างเช่น ช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ มีกิจการที่ได้รับผลกระทบทั้งดีและไม่ดี จึงต้องมาวิเคราะห์ว่าช่วงโควิดหุ้นตัวไหนอยู่เกณฑ์ดีก็จะตัดสินใจซื้อทันที โดยดูจากสิ่งที่อยู่รอบตัวว่าอะไรที่เราใช้มากขึ้น เราก็ซื้อหุ้นตัวนั้นได้เลย แต่ต้องเข้าใจว่าผลตอบแทนที่สูง ก็จะมาพร้อมความเสี่ยงที่สูงด้วย ดังนั้น ก่อนลงทุนต้องถามตัวเองก่อนว่า รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ถึงจุดไหนที่จะต้อง Cut Loss ก็ต้องกล้าตัดสินใจ ส่วนจะลงทุนอะไรนั้น ก็ต้องดูว่าต้องการผลตอบแทนแค่ไหน รับความเสี่ยงได้แค่ไหน"
สำหรับคำแนะนำเคล็ดลับพลิกวิกฤต ให้กลับมาอยู่รอดจาก โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เจ้าของเพจ 'The Money Coach' เผยว่า การเป็นหนี้ การใช้สินเชื่อ และชำระไม่ไหว เป็นหนี้ที่สร้างปัญหา ถ้าเป็นหนี้เวลาจะไม่เยียวยา อย่าอยู่เฉย เราสามารถพูดคุยได้ หนี้เป็นระบบคู่สัญญา ถ้ามีการเจรจา สามารถปรับเงื่อนไข และอาจจะรวมหนี้เป็นก้อนเดียวเพื่อหาสินเชื่อใหม่ แต่การเป็นหนี้ต้องถามตัวเองว่าเหนื่อยไหม ถ้าสามารถชำระได้ตามกำหนดได้ทุกเดือนแบบไม่เหนื่อยก็สามารถชำระให้หมดตามสัญญา แต่ถ้าคิดว่าเริ่มไม่ไหว ควรเริ่มจากลดค่าใช้จ่ายของตัวเอง อย่ามองแค่เดือนนี้ว่าเรารอด เราควรมองไปถึงอนาคตว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าเรายังไหวไหม แต่ถ้าเราบอกว่าจ่ายได้ แต่ไม่เหลือเงินเลย แบบนี้ก็คิดว่าไม่ดีเหมือนกัน เทคนิคการเคลียร์หนี้ให้หมดไว ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 แรง การสร้างรายได้เพิ่มในปัจจุบันถือว่าสำคัญ ถ้าคุณมีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้สามารถปลดหนี้ได้เร็ว ประคับประคองสถานการณ์แต่ต้องมองหาโอกาสอยู่เสมอ การใช้จ่ายเราควรมองให้ละเอียดเรื่องการบริหารการจัดการเรื่องเงินไว้ 6-9 เดือน รวมไปถึงการบริหารภาระหนี้สิน แต่เชื่อว่าในวิกฤตจะมีโอกาสเสมอ ยกตัวอย่างผมมีลูกศิษย์เป็นหนี้นอกระบบอยู่ 3 ปี ทำธุรกิจเสื้อผ้าตุ๊กตา แต่พอมาช่วงโควิดเขาปรับจากเสื้อตุ๊กตาเป็นหน้ากากอนามัย ตอนนี้ชำระหนี้สินแถมยังมีเงินเก็บ เขาสร้างโอกาสขึ้นมาก็ทำให้ปลดหนี้ได้
"นอกจากนี้สถาบันการเงินก็จะมีสินเชื่อเป็นตัวช่วย คนที่มีสินทรัพย์อยู่ เช่น บ้าน รถที่ปลดชำระแล้วหรือผ่อนชำระอยู่ ก็สามารถนำเข้าไปคุยกับสถาบันการเงินได้ อีกกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ จะเป็นบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หลายๆ สถาบันก็จะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่อนน้อยลง ดอกเบี้ยต่ำลง อาจต้องขวนขวายหาวิธีการลดภาระในการชำระหนี้ให้มากขึ้น การเพิ่มรายได้จากการลงทุนก็ควรแยกเงินออกมาให้ชัดเจน ควรกันเงินไว้ 1 ก้อนเป็นเงินสำรอง เอาไว้ให้เราสามารถดูแลตัวเองได้หากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน อาจเป็นเงินฝากดอกเบี้ยสูง กองทุนรวม กองทุน กองทุนตราสารหนี้ ควรกันไว้ 6-12 เท่าของเงินเดือน จะมีเงินส่วนที่เหลือ อยากให้ลงทุนกับกองทุนรวมหุ้นไทย ในมุมมองส่วนตัวสามารถทยอยซื้อหุ้นไทยไว้ เพราะถ้าเศรษฐกิจเริ่มดีหุ้นก็จะกลับมาดีเช่นกัน แล้วการลงทุนที่ดีควรเลือกกระจายเงิน แต่การลงทุนต้องศึกษาหาความรู้กองทุนที่เราซื้อ เราต้องรู้ว่าเอาเงินของเราไปทำอะไร ถ้าเป็นพวกเทคโนโลยีเราก็จะรู้ว่าอนาคตยังไงต้องดีแน่เราก็ควรลงทุน" กูรูด้านการวางแผนการเงิน กล่าว
ปิดท้ายด้วย แม่ศศิ-ศศิวิไล โสภณวิมลสวัสดิ์ Influencer แม่และเด็ก และการท่องเที่ยว ชื่อดังจากเพจ "ฉันกลัวที่แคบ" ให้มุมมองเกี่ยวกับเทคนิคการบริหารเงินภายในบ้านตามสไตล์แม่ศศิว่า เริ่มจากตัวเองตอนแรกอยากจะขายกระเป๋า และบังเอิญเป็นคนชอบเที่ยว จึงเอากระเป๋าไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ และโพสต์รูป ก็จะมีคนพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวว่าไปที่ไหนมา สวยมาก เลยเริ่มเขียนคอนเทนต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวจากความรู้สึก แต่พอช่วงโควิด-19 ระบาด อาชีพของตัวเองคือการท่องเที่ยว แต่เที่ยวไม่ได้ จึงทำให้รายได้เป็นศูนย์ ต้องกลับมานั่งคิดว่า จะทำอะไรได้บ้าง ในเมื่อรายจ่ายยังมีเท่าเดิมแต่รายรับเป็นศูนย์ กลับมาดูตัวเองว่ามีทักษะด้านไหนบ้าง แล้วจะเปลี่ยนมาทำอาชีพได้อย่างไร แต่ต้องมีความกล้าและตั้งใจ พอดูแล้วรู้ว่าชอบทำขนม จึงตัดสินใจทำ มีการวางแผนว่าทำอะไรได้บ้าง จะทำทั้งหมดกี่เมนู ทำให้เราได้มาขายขนมชื่อ "Sasi Homemade" แต่จุดเริ่มต้นล้วนมีอุปสรรค ต้องมีความกล้าแล้วพาตัวเองออกมาจากสิ่งนั้น กล้าคิดแล้วลงมือทำ แต่ควรจะเป็นสิ่งที่ชอบและทำแล้วมีความสุข
"เทคนิคการบริหารเงิน และการจัดการรายได้ สามารถทำให้เราแพลนอนาคต การแบ่งสัดส่วน พอมีรายได้ ก็มีการแบ่งเป็นเงินของลูก 25% พอยุคโควิดเราต้องปรับตัวโดยการเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 50% มีการเลือกลงทุนในระยะยาว เพื่อการศึกษาของลูกชาย คือ น้องตะวัน ในอนาคต การสอนลูกเรื่องการออมก็เป็นสิ่งสำคัญ เราค่อย ๆ สอนให้เขารู้จักว่าการทำขนมถึงจะได้เงินมา ถ้าตะวันอยากกินช็อกโกแลตก็ต้องทำขนมขาย เป็นการปลูกฝังให้เขาทุกวัน และถ้าจะพูดถึงการมีอาชีพเสริมในยุคนี้ก็ถือว่าสำคัญ เพราะค่าใช้จ่ายแฝง ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเก็บเพิ่มมากขึ้นในเงินภาวะฉุกเฉินคิดเป็น 15% ของรายได้ แต่สุดท้ายการทำอาชีพเสริมถ้าสำหรับคนมีลูก ลองหาอาชีพที่สามารถทำร่วมกับลูกได้ ทำให้ลูกมีส่วนร่วมกับเรา ก็จะทำให้เรามีความสุขกับทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม" แม่ศศิ เน้นย้ำ
สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามสาระดี ๆ และคำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารการเงิน รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรู้ด้านการบริหารการเงิน ได้ที่ Facebook: www.facebook.com/KrungsriConsumer/
ที่มา: มนตรี พีอาร์