ซอฟต์แวร์ open source ยังคงทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับองค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยช่วยให้องค์กรเหล่านี้สามารถปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย พัฒนาแอปพลิเคชัน และปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่รูปแบบดิจิทัล รายงาน State of Enterprise Open Source ของ Red Hat ระบุว่าในปัจจุบัน 92 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารไอทีในภูมิภาคนี้ใช้โอเพ่นซอร์สระดับองค์กร (enterprise open source) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์
การจัดงาน Red Hat APAC Forum Virtual Experience ภายใต้ธีม "Open Your Perspective" มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ เพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน พลิกโฉมองค์กรตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยี open source สำหรับในปีนี้ รางวัล Red Hat APAC Innovation Awards ยกย่องความสำเร็จทางด้านเทคโนโลยีของ 24 องค์กรในภูมิภาคนี้ โดยเน้นพิจารณาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหาอย่างมุ่งมั่น และการใช้โซลูชันของ Red Hat ในเชิงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
เกณฑ์การพิจารณาผู้ได้รับรางวัลดูจากผลที่ได้จากการนำโซลูชันของ Red Hat ไปปรับใช้เพื่อรองรับเป้าหมายทางธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร อุตสาหกรรม ชุมชน และวิสัยทัศน์ของโครงการที่ไม่เหมือนใคร โดยผู้ได้รับการคัดเลือกต้องแสดงให้เห็นว่าเครื่องมือและวัฒนธรรมด้าน open source ช่วยให้องค์กรปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความคล่องตัว และประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับปัญหาท้าทายและเทรนด์ใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
รางวัลในปีนี้แบ่งเป็น 5 สาขา ได้แก่ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation), โครงสร้างพื้นฐานไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud Infrastructure), การพัฒนาคลาวด์-เนทีฟ (Cloud-native Development), ระบบอัตโนมัติ (Automation) และความยืดหยุ่น (Resilience) สำหรับประเทศไทยมีองค์กรได้รับรางวัล 2 สาขา คือ สาขา Cloud-native Development และสาขา Hybrid Cloud Infrastructure
สาขา: Cloud-native Development
ผู้ได้รับรางวัล: กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของไทยในด้านของมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็นหนึ่งในหกสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks - D-SIBs) ของไทย มีประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานกว่า 76 ปี กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group - MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
กรุงศรีมุ่งมั่นตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดดิจิทัลแบงกิ้งของไทย ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 ธนาคารตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ และมอบประสบการณ์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ด้วยการยกระดับแผนการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลของธนาคาร โดยกรุงศรีได้สร้างระบบที่แข็งแกร่ง ปลอดภัย และเชื่อมต่อได้ง่าย เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของระบบนิเวศด้านพันธมิตรทั้งหมด นอกจากนี้ ธนาคารยังจำเป็นต้องย้ายจากแอปพลิเคชันรุ่นเดิม ๆ ไปเป็นการใช้งานแอปพลิเคชันแบบคอนเทนเนอร์ไรซ์ โดยใช้สถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จ กรุงศรีจำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มที่สมบูรณ์พร้อมที่มาพร้อมแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อให้การปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบคอนเทนเนอร์เป็นไปอย่างราบรื่น
กรุงศรีทำงานร่วมกับ Red Hat และ IBM GBS เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม Open banking API ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศ API ที่มีลักษณะเฉพาะทั่วภูมิภาค ธนาคารได้ติดตั้งใช้งาน Red Hat OpenShift ที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและมีความปลอดภัยที่รัดกุม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานที่ระบบจะต้องไม่มีการหยุดชะงักเลย (zero downtime) นอกจากนี้ยังลดระยะเวลาของวงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้ กรุงศรีจึงสามารถสร้างและนำเสนอแอปพลิเคชันและบริการใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยการปรับใช้สถาปัตยกรรมคลาวด์-เนทีฟและคอนเทนเนอร์ นอกจากนี้การใช้แพลตฟอร์มไมโครเซอร์วิส
ที่ขับเคลื่อนด้วย Red Hat ช่วยให้ธนาคารมีความพร้อมที่จะปรับใช้แนวทาง DevSecOps เพื่อผลักดันวัฒนธรรมด้านระบบงานอัตโนมัติและการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล และยังช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ขัดขวางการทำงานและบูรณาการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ใช้งาน
สาขา: Hybrid Cloud Infrastructure
ผู้ได้รับรางวัล: บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS)
KTBCS เป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำด้านการให้บริการไอทีแก่ภาคธุรกิจธนาคารและภาครัฐ KTBCS ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน, บริการให้เช่าพื้นที่เพื่อติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ และการบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์, บริการด้านพัฒนาระบบงานและแอปพลิเคชันตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านไอที
KTBCS ได้รับมอบหมายจากบริษัทแม่คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ให้ดำเนินการย้ายระบบงานจากเดิมไปใช้ระบบคลาวด์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัล อีกทั้งตอบสนองนโยบายของกระทรวงการคลังที่ให้ธนาคารเพิ่มศักยภาพการบริการธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าธนาคารเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ดังนั้น KTB จึงสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าควบคู่ไปกับการควบคุมค่าใช้จ่าย KTBCS ได้ใช้ Red Hat OpenStack Platform, Red Hat OpenShift, Red Hat Ceph Storage และ Red Hat Enterprise Linux สร้างระบบ private cloud สำหรับ KTB เพื่อการพัฒนาดิจิทัลแอปพลิเคชันใหม่ ๆ และให้มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า
ระบบ private cloud ที่ดำเนินการโดย KTBCS ทำให้ KTB ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจการเงิน มีอัตราการเติบโตของธุรกิจสูงขึ้น สามารถให้บริการด้านการเงินดิจิทัลที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความปลอดภัยและพร้อมใช้งานร่วมกับดิจิทัลแอปพลิเคชันอื่น ๆ KTB สามารถลดระยะเวลาของวัฏจักรการพัฒนาบริการ จากเดิมที่เคยใช้เวลาหลายสัปดาห์เหลือเพียงไม่กี่วัน ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้ KTB ลดขั้นตอนการทำงานโดยการการสร้างระบบและสภาพแวดล้อมไอทีในองค์กร สามารถลดต้นทุน และแรงงานส่วนโครงสร้างพื้นฐานได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น แอปพลิเคชัน global transaction และแอปพลิเคชัน One Krungthai สำหรับพนักงานใช้ภายในองค์กร นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของ KTB มีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถรองรับปริมาณงานที่จะเพิ่มขึ้นหรือการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตเพื่อต่อยอดความสำเร็จของธนาคาร KTBCS มีแผนงานจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ร่วมกับดิจิทัลแอปพลิเคชัน เพื่อรองรับปริมาณงานของหน่วยงานภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เทคโนโลยีของ Red Hat ทำให้ KTBCS มั่นใจว่าจะสามารถสร้างระบบ national private cloud ให้กับหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รางวัลสาขาการพัฒนาคลาวด์-เนทีฟนี้ มอบให้แก่องค์กรที่มีการพัฒนาการบริการอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองผู้ใช้งานหรือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงองค์กรที่เป็นต้นแบบเรื่องการสร้างสรรค์ การดูแลรักษา และการปรับใช้แอปพลิเคชันเพื่อการดำเนินธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ
คำกล่าวสนับสนุน
คุณมาร์เจ็ต แอนดรีสส์ ผู้จัดการทั่วไปและรองประธานของเร้ดแฮทประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Red Hat
"ปี 2564 ยังคงเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่องค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีการใช้เทคโนโลยี open source เพื่อทำ digital transformation และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านธุรกิจอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์กรเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น ไฮบริดคลาวด์ ระบบวิเคราะห์ข้อมูล และเอดจ์คอมพิวติ้ง เพื่อรับมือกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงประสบการณ์ให้กับลูกค้า Red Hat ขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ และเราหวังว่าโซลูชันโอเพ่นซอร์สของ Red Hat จะช่วยให้ลูกค้าสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายมากมายที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน พร้อมทั้งปลดล็อคความสำเร็จในอนาคตให้กับธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก"
คุณสายสุนีย์ หาญประเทืองศิลป์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
"แพลตฟอร์ม Open API ของเรานับเป็นรากฐานในการสร้างระบบที่แข็งแกร่ง ปลอดภัย และเชื่อมต่อได้ง่าย ซึ่งจะขับเคลื่อนการเติบโตของระบบนิเวศพันธมิตรของกรุงศรี เราใช้เทคโนโลยีไมโครเซอร์วิสที่ขับเคลื่อนโดย Red Hat เพื่อทำให้บริการธนาคารเป็นเรื่องง่าย และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า โดยลูกค้าจะสามารถเข้าถึงสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ประกันชีวิต หรือวางแผนเกษียณอายุได้ง่าย ๆ ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง แพลตฟอร์มนี้จะช่วยปูทางให้กรุงศรีเป็นธนาคารชั้นนำของไทยที่สามารถเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วอาเซียนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ พันธมิตรของเรายังสามารถเสนอราคา ให้บริการ และแจ้งข้อมูลประมาณการให้แก่ลูกค้าได้โดยตรงและรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา"
คุณภูษิต สระปัญญา รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานบริหารงานปฏิบัติการ KTBCS
"ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารและหน่วยงานภาครัฐจะต้องยกระดับการดำเนินงานรูปแบบดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าและประชาชน Red Hat ช่วยให้ KTBCS พัฒนาระบบ private cloud เพื่อปรับปรุงการให้บริการด้านธนาคารของ KTB และลดค่าใช้จ่ายด้านไอที นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีช่วยให้ธนาคารมีความพร้อมมากขึ้นในการให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงข้อมูลและความรู้ด้านการเงิน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะช่วยส่งเสริมการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย"
ที่มา: เอฟเอคิว