TK 9 เดือนรายได้รวม 1,514.5 ล้านบาท กำไร 345.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 37.5%

พุธ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๑ ๑๓:๒๔
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เผยยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 9 เดือน เพิ่มขึ้น 5% มียอดจำหน่ายรวมที่ 1,204,745 คัน แต่ในไตรมาส 3/2564 มียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 330,704 คัน ลดลง 20% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนผลประกอบการของบริษัทฯ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ TK ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้รวม 1,514.5 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 345.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.5% โดยในไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 129.8 ล้านบาท และรายได้รวม 476.2 ล้านบาท เทียบผลประกอบการไตรมาส 3/2563 กำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 19.6% ในขณะที่รายได้รวมลดลง 23.8% จากสถานการณ์โควิด ระบุหนี้ครัวเรือนในประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 สูงถึง 89.3% ของ GDP คาดอาจปรับตัวสูงขึ้น บวกกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยง บริษัทฯ ยังคงนโยบายระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และถือเงินสดรวมเงินฝากซึ่ง ณ ไตรมาส 3/2564 มีจำนวน 2,514.3 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมขยายธุรกิจทันทีทั้งในและต่างประเทศ

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 3/2564 โดยบริษัทฯ มีรายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 1,514.5 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 1,988.1 ล้านบาท กำไรสุทธิ 345.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.5% จาก 251.3 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 129.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6% จาก 108.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และรายได้รวม 476.2 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 624.9 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,818.0 ล้านบาท ลดลง 16.8% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและความเสี่ยงจากหลายปัจจัย

"ปัจจัยสำคัญที่สะท้อนผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทฯ ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศที่มียอดจำหน่ายในไตรมาส 3 ปีนี้ จำนวน 330,704 คัน ลดลง 20.2% จาก 414,344 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ตลอด 9 เดือนมีจำนวนรวม 1,204,745 คัน เพิ่มขึ้น 5.0% จาก 1,146,980 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ทางบริษัทฯ จำเป็นต้องคงนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ลูกค้าที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ มากกว่าการเร่งยอดปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการหรือเพิ่มลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินกู้" นางสาวปฐมากล่าว

ทางด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,818.0 ล้านบาท ลดลง 16.8% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 โดยสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28.1% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2564 โดยมาจากกัมพูชาเป็นตลาดหลัก 84.7% มีลูกหนี้รวม 909.1 ล้านบาท เติบโต 5.0% จาก 865.5 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ สปป.ลาว มีลูกหนี้ 164.3 ล้านบาท ลดลง 16.0% จาก 195.7 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

"ที่กัมพูชาตลาดขยายตัวในไตรมาส 1 และหดตัวในไตรมาส 2 เนื่องจากมีการล็อกดาวน์สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตลาดกลับมาโตอีกครั้งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะยังมีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่สลับกันไป สำหรับใน สปป.ลาว สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลให้มีการล็อกดาวน์ ทำให้ตลาดยังไม่กลับมาเติบโต อย่างไรก็ตาม เราเห็นสัญญาณที่ดีในตลาดทั้งสองประเทศ ตลาดค่อยๆ กลับมาขยายตัว และอัตราการชำระเงินที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เชื่อว่าในกัมพูชาและ สปป.ลาว จะเริ่มกลับมาเติบโตได้ในไตรมาส 4 นี้" นายประพล อธิบาย

ด้านดีลการซื้อกิจการ เอ็มเอฟไอเอล (Myanmar Finance International Limited) หรือ MFIL ผู้ให้บริการสินเชื่อในเมียนมา บริษัทฯ ยังคงมีความสนใจและเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการดีลดังกล่าวต่อ โดยขณะนี้ยังต้องรอให้สถานการณ์ต่าง ๆ ในเมียนมาคลี่คลายและเอื้อให้สามารถเข้าไปดำเนินการต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงใช้กลยุทธ์รักษาสถานะเงินสดให้อยู่ในระดับที่พร้อมลงทุนสำหรับดีลที่ยังรอปิดอย่างกรณี MFIL เพื่อใช้สำหรับขยายตลาดเพื่อเพิ่มยอดลูกหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศทันทีที่ตลาดขยับตัว รวมทั้งใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจเดิมที่บริษัทฯ เชี่ยวชาญในตลาดใหม่ และการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทฯ เมื่อเห็นช่องทางและโอกาสที่เหมาะสม อนึ่ง ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ มีสถานะเงินสดรวมเงินฝากอยู่ที่ระดับประมาณ 2,514.3 ล้านบาท นายประพล กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: แอบโซลูท พีอาร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ