ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้ดำเนินจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจและช่วยชีวิต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 (กรกฏาคม - กันยายน) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 190.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,634.67% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 11.00 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายและบริการ 699.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 390.93% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 142.51 ล้านบาท ผลักดันให้ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-กันยายน) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 1,184.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 174.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 432.35 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 264.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 564.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 39.82 ล้านบาท ถือว่าเป็นผลการดำเนินงานที่เติบโตและทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (New high) นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ
ปัจจัยการเติบโตหลักมาจากการทยอยรับรู้งานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ล่าสุด ได้ส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง มูลค่ารวม 131.30 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย แบ่งเป็น การส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้มูลนิธิโรงพยาบาลเครือบางปะกอก และโรงพยาบาลในเครือปิยะเวท มูลค่า 86.90 ล้านบาท และส่งมอบครุภัณฑ์การแพทย์แก่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 มูลค่า 44.40 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมียอดคำสั่งซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED, ผลิตภัณฑ์ Rapid Test Kit หรือ ATK ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้อง ICU, Semi ICU และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ SMD เป็นตัวแทนจำหน่าย โดยมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากทั้งภาครัฐ เอกชน และนิติบุคคล รวมถึงมีรายได้เสริมจากธุรกิจเครื่องมือแพทย์ให้เช่า
"จากผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 64 ถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ รายได้และกำไรสร้างสถิติสูงสุดใหม่ ถือเป็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบริษัทฯ ได้รับปัจจัยหนุนมาจากการความต้องการสินค้าเครื่องมือแพทย์เพิ่มมากขึ้น ตามความจำเป็นต่อการรักษา และใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดจากสถานการณ์โควิด-19 จากกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มนิติบุคคลต่างๆ" ดร.วิโรจน์ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) เพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้ในปีนี้กว่า 95% ของมูลค่างานทั้งหมด โดยมองว่าความต้องการเครื่องมือแพทย์ยังคงมีสูงตามการเบิกจ่ายของงบประมาณภาครัฐฯ ที่ให้ความสำคัญทางด้านการแพทย์ สะท้อนจากงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ยังให้ความสำคัญกับครุภัณฑ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องการการช่วยชีวิตในภาวะวิกฤติ
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย