"...ความร่วมมือในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญของภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันพัฒนาผ่านการสนองตอบนโยบาย BCG ของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสินค้าทางการเกษตร การยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์สารชีวภัณฑ์และเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ในระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ภายใต้ความร่วมมือนี้ วว. และ UBE จะบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน ผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิยช์และเชิงสังคม ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน..." ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้านเอทานอลเป็นหลัก ได้ส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิกอยู่แล้ว และได้ขยายธุรกิจมาทำเกษตรอินทรีย์เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เพราะประเทศไทยเป็นสังคมเกษตร และมีจุดแข็งด้านการเกษตรอยู่แล้ว เราต้องพัฒนาจุดแข็ง โดยการทำเกษตรแบบประณีตพัฒนาไปสู่ความเป็นออร์แกนิก โดยมีสารชีวภัณฑ์เป็นอาวุธสำหรับเกษตรกร การที่ วว. สามารถพัฒนาสารชีวภัณฑ์นี้สู่อุตสาหกรรม เป็นการตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากจังหวัดอุบลราชธานีที่บริษัทดำเนินการอยู่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีสุขภาพดี สามารถขายสินค้าได้ดี มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและที่สำคัญได้ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมโดยรวม
ทั้งนี้ วว. มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยพัฒนาและให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ของสารชีวภัณฑ์ครบวงจร ส่งเสริมงานวิจัยสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ บูรณาการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสารชีวภาพและชีวภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้บริการทดสอบอย่างครบวงจรเพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ เป็นคลังสายพันธุ์จุลินทรีย์กว่า 10,000 สายพันธุ์ ที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการมีการศึกษาวิจัยระดับประเทศและภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตจุลินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม (ICPIM) เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการไปจนถึงระดับโรงงานนำทาง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9362 อีเมล [email protected] www.tistr.or.th Line@TISTR IG : tistr_ig
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย