ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต่อว่า เราต้องเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สร้างเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวให้น่าสนใจ ยกตัวอย่างเมืองเก่า เช่น สุโขทัย ก็ใช้เทคโนโลยี AI และ VR ทำให้เห็นภาพอดีตอันรุ่งเรือง ปรากฏเป็นภาพซ้อน 3 มิติ กับซากปรักหักพังได้ ซึ่งกว่าจะได้ภาพแบบนั้นมาก็ต้องทำการศึกษาวิจัย เมืองเก่าในอดีตว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร เพื่อที่จะออกแบบได้อย่างถูกต้องและลงตัวกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตก็ต้องมีความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย และเอกชน เพื่อทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ดร. กิติพงค์ ย้ำว่า แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอันดับ 5 ของโลก จากการจัดอันดับของนิตยสาร CEO WORLD นิตยสารด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ แต่การจะฟื้นวัฒนธรรมเพื่อให้ไปอยู่ในแผนที่การท่องเที่ยวโลกนั้น ต้องยอมรับว่าเราช้ากว่าเกาหลีมาก สินค้าทางวัฒนธรรมของเราไม่ได้กระจายไปทั่วโลกอย่างเกาหลี แต่ยังจำกัดอยู่ในตลาดจีน และ CLMV เป็นส่วนใหญ่ หน้าที่ของ สอวช. คือ ใส่งานวิจัยเข้าไป แล้วผลักดันสู่การเป็น "Civilization Industry" เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจจากมรดกทางวัฒนธรรม เงินจะกระจายไปสู่ชุมชน ท้องถิ่น โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุน
"สอวช. กำลังทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 38 แห่ง ในอนาคตเชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎ ก็อาจจะทรานซฟอร์ม โดยจัดให้มีการศึกษาด้านโบราณคดี แม้แต่การจัดตั้งเป็นคณะโบราณคดี เพื่อสนับสนุน Civilization Industry โดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บันเทิง และอุตสาหกรรมสันทนาการต่าง ๆ เชื่อว่าวัยรุ่นจะสนใจเรียนกันมาก โดยอาจจะทำร่วมกับ วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา -TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านรากฐานทางประวัติศาสตร์ อาจเป็นในรูปของการท่องเที่ยว ขายของ ขายอาหาร เป็นต้น" ดร.กิติพงค์ กล่าว
ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)