นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดฝึกอบรมยกระดับฝีมือสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ รุ่นที่ 1/2564 ณ ห้องฝึกอบรม ชั้น 2 อาคารวิทยาลัยการแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยหลังจากการเป็นประธานดังกล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายส่งเสริมให้กำลังแรงงานไทยปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดจุดอ่อนหรือข้อด้อยที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และยังจะแสดงถึงศักยภาพแรงงานไทยได้อย่างเต็มที่ เป็นการสร้างโอกาสและรักษาตำแหน่งงานให้คนไทยโดยเฉพาะตำแหน่งงานในตลาดต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจเดินเรือทะเลถือเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจเดินเรือทะเลก็ต้องปฎิบัติตามกฎหมายหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจเดินเรือทะเลหยุดออกเรือ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นมาก มีสัญญาณบวกทั้งนโยบายการเปิดประเทศและตัวเลขของผู้ได้รับวัคซีน ภาคธุรกิจต่างเตรียมขับเคลื่อนเดินหน้า หลายบริษัทขาดแคลนคนครัวบนเรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานในฐานะหน่วยงานตามกฎหมายพ.ร.บ.แรงงานทะเล ฝึกอบรมหลักสูตรสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือเพื่อส่งเสริมให้คนประจำเรือในตำแหน่งคนครัวบนเรือ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ 2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และพ.ร.บ.แรงงานทะเล พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้คนครัวบนเรือต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนี้จากหน่วยงานที่ได้การรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถประกอบอาชีพบนเรือเดินทะเลและเรือขนส่งระหว่างประเทศได้ โดยตำแหน่งคนครัวบนเรือเป็นที่ต้องการเรือเดินทะเล เช่น เรือสำราญ เรือรบ เรือประมง เรือสำรวจทางอุทกศาสตร์ เรือขุดร่องน้ำ และเรือขนส่งระหว่างประเทศ
สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้เริ่มต้นจัดฝึกเป็นที่แรกก่อนขยายฝึกทั่วประเทศ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น 1 ใน15 หน่วยงานกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นสถานฝึกอบรมคนครัวบนเรือ มีแผนการฝึกอบรม 6 รุ่น รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 1 ซึ่งมีสถานประกอบกิจการส่งพนักงานเข้ารับการอบรมจำนวน 23 คน เช่น บริษัท จุฑานาวี จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิปโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรานส์ โอเชี่ยน ซัพพลาย (1992) จำกัด บริษัท สยามมงคลเดินเรือ จำกัด เป็นต้น หัวข้อการฝึกอบรมได้แก่ ความรู้พื้นฐานของคนครัวบนเรือ ความปลอดภัยและสุขภาพในการปฏิบัติงาน สุขลักษณะส่วนบุคคลและอาหาร ทักษะการประกอบอาหาร การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ การจัดการและการควบคุมดูแลครัว การจัดการของเสียในครัว รวมถึงมุมมองด้านศาสนาและวัฒนธรรม ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 42 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 22-27 พฤศจิกายน 2564
หลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือนอกจะช่วยให้แรงงานทำงานถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ เสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีในการปฏิบัติงานบนเรือเดินทะเล และใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติงานและบำรุงรักษาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพในการทำงาน จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจเดินเรือของไทย และเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย
ที่มา: กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน