บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding) ภายในงาน POWERING DIGITAL THAILAND 2022 HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA PACIFIC INNOVATION DAY ผสานความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ 5G และ AI ยกระดับภาคสาธารณสุขประเทศไทยให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนโรงพยาบาลรามาธิบดีให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะผ่านการเป็นพันธมิตรในระยะยาว
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีในครั้งนี้ว่า "หัวเว่ยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ซึ่งทั้งสององค์กรได้มีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ผ่านโครงการการบริจาคหน้ากากอนามัยและการสนับสนุนเทคโนโลยี AI สำหรับประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ด้วยเป้าหมายร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขให้แก่คนไทย สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นการนำ ประสบการณ์ของหัวเว่ยในฐานะพาร์ทเนอร์ด้านการผลักดันเทคโนโลยีไอซีทีในประเทศไทยมานานกว่า 22 ปี ผ่านโซลูชันและความเชี่ยวชาญจากตลาดระดับโลกเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมสาธารณสุขไทย"
นายอาเบล ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสาระสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้คือ ทางหัวเว่ยจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G คลาวด์ และ AI เพื่อยกระดับโรงพยาบาลรามาธิบดีให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการเติบโตในประเทศไทย และสนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทย รวมถึงเป้าหมายของหัวเว่ยที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังในยุคดิจิทัล หัวเว่ยจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาอุตสาหกรรมสาธารณสุขของไทยให้ทั่วถึงครอบคลุม ซึ่งหัวเว่ยต้องขอแสดงความขอบคุณทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือในการช่วยทำให้ประเทศไทยมีความปลอดภัย รวมทั้งนำพาเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อสร้างประเทศไทยอัจฉริยะที่มีการเชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับหัวเว่ยในครั้งนี้ว่า "เรารู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับหัวเว่ยอย่างต่อเนื่อง หลังจากการทำงานร่วมกันในการรับมือกับโควิด-19 ในประเทศไทย ทางโรงพยาบาลรามาธิบดียังคงมองหาโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากหัวเว่ย อาทิ 5G คลาวด์ หรือ AI ให้เกิดประโยชน์กับภาคสาธารณสุขไทย ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นดั่งจุดเริ่มต้นของเราที่จะขยายความร่วมมือไปยังการใช้งานในสาขาการแพทย์ส่วนอื่น ๆ ในอนาคต"
ทั้งนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวเว่ยตั้งเป้าว่าจะนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น 5G Enterprise Intelligence (EI) บิ๊กดาต้า การประมวลผลคลาวด์ เพื่อเสริมประสิทธิภาพด้านระยะเวลาในการตอบสนอง การติดตามคนไข้ การเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการประสานงานทางไกลและการทำงานร่วมกันในหลายหน่วยงาน เพื่อนำแอปพลิเคชัน IT ไฮบริดคลาวด์ และ AI ไปประยุกต์ใช้กับการโทรเวชกรรมผ่านเครือข่าย 5G การผ่าตัดทางไกล การใช้ AI ช่วยวินิจฉัยโรค และอื่นๆ เป็นต้น
เกี่ยวกับหัวเว่ย
หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชั่นที่ผสมผสานในสี่กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที, สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อน โลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นและบริการที่ครบวงจรของหัวเว่ยเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการแข่งขันและเชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิด หัวเว่ยสามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับลูกค้า เสริมสมรรถนะของผู้คน ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร ทุกรูปแบบและทุกขนาด
นวัตกรรมของหัวเว่ยเน้นตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า เราทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการวิจัย เน้นค้นหานวัตกรรมด้านเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้า เรามีพนักงานกว่า 194,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ย ได้ที่ www.huawei.com
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์