สำหรับงวดไตรมาส 3/2564 บริษัทและบริษัทย่อยบันทึกรายได้รวม 9,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.15% จาก จำนวน 8,926 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2563 โดยมีรายได้จากการขาย 9,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.45% จาก จำนวน 8,389 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2563 โดยในไตรมาส 3/2564 บันทึกกำไรจำนวน 1,489 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.38% จาก จำนวน 1,024 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2563
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทและบริษัทย่อยบันทึกรายได้รวม 30,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.23% จาก จำนวน 27,132 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนของปี 2563 และบันทึกกำไรสุทธิจำนวน 5,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.53% จาก จำนวน 2,727 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนของปี 2563 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 8,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการลดต้นทุนการผลิตปูนซิเมนต์ โดยใช้เชื้อเพลิง RDF เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินบางส่วน การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างของราคาเม็ดพลาสติกในธุรกิจปิโตรเคมี และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้า ตอกย้ำสถานะความแข็งแกร่งของบริษัทในตลาดปูนซิเมนต์ในประเทศไทย ตลอดจนตำแหน่งผู้นำในตลาดพลาสติก Low-density Polyethylene (LPDE) และ Ethylene Vinyl Acetate (EVA) รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นอกจากนี้ บริษัทได้มุ่งเน้นการพัฒนา ESG ภายใต้นโยบาย BCG ตามมาตรฐานนโยบายใหม่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว (New Paradigm Shift) โดยบริษัทถือเป็นโรงปูนซิเมนต์แห่งแรกของประเทศไทย ที่สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 6.5 ล้านตัน CO2 ต่อปี ภายในปี 2565 ในขณะที่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยก็สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ 7.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว (Consolidation) สำหรับกลุ่มบริษัท ทีพีไอ จะส่งผลให้กลุ่มทีพีไอโพลีนเป็นโรงปูนแห่งแรกในโลกนี้ที่เป็น Green Cement Producer สามารถทำเป้า Net Zero Target ได้ ตามนโยบายรัฐบาลที่ท่านนายกฯได้แถลงต่อสหประชาชาติใน COP26 ที่กรุง Glasgow สก๊อตแลนด์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเร็ว ๆ นี้
บริษัทคาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปี 2564 จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 33-34 ล้านตัน โดยแนวโน้มความต้องการปูนซิเมนต์ และคอนกรีตผสมเสร็จในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีโปรเจ็กต์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขับเคลื่อนการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ ได้แก่ โครงมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางประอิน ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย