การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 816,187,084 หุ้น แบ่งการจัดสรรออกเป็น 2 ส่วนคือ เป็นการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 544,124,723 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่ ในราคาเสนอ ขายหุ้นละ 1 บาท กำหนดให้วันที่ 28 ตุลาคม 2564 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Record Date) โดยกำหนดระยะเวลาการจองซื้อและการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนระหว่างวันที่ 13 ถึง 17 ธันวาคม 2564
และเป็นจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 272,062,361 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาทเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่1 ("ใบสำคัญแสดงสิทธิ SOLAR-W1") ที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่ได้จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ SOLAR-W1 โดยไม่คิดมูลค่า (ราคาเสนอขายต่อหน่วยเท่ากับ 0 บาท) โดยใบสำคัญแสดงสิทธิ SOLAR-W1 จะมีอายุ 2 ปี นับแต่วันที่ออก และมีราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเท่ากับ 2 บาทต่อหุ้น เท่ากับ 2.00 บาทต่อหุ้น โดยใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 29 มิถุนายน 2565 และใช้สิทธิครั้งที่ 2 วันที่ 21 ธันวาคม 2566
การเพิ่มทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบริษัทจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นมีมากกว่า 50% และหลักทรัพย์ 'SOLAR' ได้รับการปลอดเครื่องหมาย "C" (Caution)
นาย ไววิทย์ อุทัยเฉลิม กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด (CMO) เผยว่า "จากการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ บริษัทฯได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแบบผ่านฉลุยทุกมติ ด้วยบริษัทชี้แจงถึงแผนเพิ่มทุนที่จะนำเงินทุนที่ได้ไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยเรามีประสบการณ์ที่ยาวนานและความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดและและระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร ทั้งยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งอีกหลายรายเช่น บริษัท เอฟที เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นออกแบบและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าด้านพลังงานทดแทน ที่เราเพิ่งทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ งานวิจัย งานคิดค้นนวัตกรรม ด้านพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆทั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าหรือรูปแบบอื่น พลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง การบริหารจัดการด้านการตลาด ของสินค้าด้านพลังงานทดแทน โดยมีโครงการนำร่องที่เริ่มแล้วคือ 'ระบบ Hybrid อัดอากาศเพื่อบำบัดน้ำเสีย' ซึ่งออกแบบโดย ดร.วิรชัย ในนาม FT Energy การันตีด้วยรางวัลเหรียญทองอันดับ 1 จากงาน The 48th International Exhibition of Innovations Geneva ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ระบบนี้จะมาเป็นงานชิ้นเอกให้บริษัทสร้างและนำไปพัฒนาสู่องค์กรต่างๆ สร้างรายได้ใหม่จากธุรกิจ Hybrid บริษัทมีงานจากหน่วยงานราชการซึ่งเป็นฐานลูกค้าอยู่แล้วและกลุ่มองค์กรเอกชนที่ให้ความสนใจในนวัตกรรมของ SOLAR ซึ่งบริษัทจะไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาทั้งระบบการทำงานและสร้างคุณประโยชน์รอบด้านจากการใช้งาน นวัตกรรมอื่นๆอีกหลายชิ้นจะทยอยเปิดตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2565 เป็นต้นไป โดยมั่นใจว่านวัตกรรมต่างๆจะมาเป็นตัวพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างมั่นคง"
ทั้งนี้บริษัทได้รับกำลังใจจากผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมและมีความเชื่อมั่นว่า SOLAR จะสามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายจากนวัตกรรมใหม่ที่ทางบริษัทร่วมมือกับพันธมิตร เปิดประตูสู่อนาคตทางธุรกิจใหม่ที่สดใสขึ้นในเวลาอันใกล้นี้
ที่มา: บางกอก ออทัม