รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ศูนย์คุณธรรมได้พัฒนากระบวนการให้ความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยแนวทางที่เข้าใจง่าย จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนา โครงการวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม Sustainability c Moral "ตามรอยพระราชา" สร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากศาสตร์พระราชา ด้วยการอบรมพัฒนาวิทยากรจากแต่ละพื้นที่ตามเส้นทางในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา จำนวนกว่า 30 คนจากทั่วประเทศ ให้เข้าใจถึงกระบวนการการออกแบบกิจกรรมให้ความรู้ สามารถถ่ายทอด "ศาสตร์พระราชา" ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เกิดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง พร้อมกับการปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา สู่กระบวนการถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ด้วยบอร์ดเกม โดยสอดแทรกการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาศัยภูมิปัญญาและความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนการเดินทางสายกลาง ความรอบคอบ สมเหตุสมผล ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545
โดยผู้เข้าร่วมโครงการวิทยากรส่งเสริมคุณธรรมฯ จะได้เรียนรู้หลักสูตร Module I: Online Workshop The idea factory - "4 Moral Principles คุณธรรม 4 ประการ" วิถีนิวนอร์มอล ผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ระบบออนไลน์ และหลักสูตร Module II: On Tour Trip การลงพื้นที่ ณ บ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม เพื่อสร้างประสบการณ์จริง และนำเอาเครื่องมือที่ได้จากการทำเวิร์กชอปช่วงแรกมาต่อยอด พัฒนาการนำเสนอเนื้อหาที่ได้จากการเรียนรู้ในช่วงที่ 2 มาถ่ายทอดเรื่องราว "ตามรอยพระราชา" และการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ โดยเชื่อมโยงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goal (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมได้
สำหรับกิจกรรมภาคเช้า ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านศาลาดิน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดโดย นายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านศาลาดิน รวมทั้งเข้าร่วมฐานกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งหมด 3 ฐานกิจกรรม ได้แก่ ฐานกิจกรรมที่ 1 บ้านข้าวตัง ซึ่งจะเห็นการบูรณาการการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดเป็นภูมิปัญญาไทยอันเลื่องชื่อ "ข้าวตัง" ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องสร้างสรรค์เป็นอัตลักษณ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ทดลองทำข้าวตังสดด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังได้สัมผัสการดำเนินวิถีชีวิตริมคลองขุดภายใต้การน้อมนำเอาแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้หล่อเลี้ยงชุมชนบนพื้นที่ทำกินพระราชทาน พร้อมชมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จากแนวพระราชดำริ "ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ" ฟื้นฟูสภาพคลอง แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย และผักตบชวาในคลองมหาสวัสดิ์แบบพึ่งพาตนเอง รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดให้เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการน้ำชุมชน
ฐานกิจกรรมที่ 2 นาบัวลุงแจ่ม พื้นที่ปลูกบัวสัตตบงกช ซึ่งเป็นนาบัวตัดดอกที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ทั้งจากการขายดอกบัว เลี้ยงปลาในนาบัว และการปลูกผักรอบนาบัว ถ่ายทอดโดย คุณประไพ สวัสดิ์โต (ป้าติ๋ว) ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้จนประสบความสำเร็จและต่อยอดจากรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน ด้วยการเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ และนำดอกบัวมาเป็นเมนูไฮไลท์ ฐานกิจกรรมที่ 3 เรือนมหาสวัสดี ห้องสมุดวรรณกรรมท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ถ่ายทอดโดย ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี หอประวัติศาสตร์ คติชนวิทยาและวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง - ภาคตะวันออก
ต่อด้วยกิจกรรมภาคบ่าย เป็นการนำเสนอผลงานในรูปแบบคลิปวิดีโอ "ศาสตร์พระราชา" ผลงานการถ่ายทอดของผู้เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์คุณธรรม และประธานมูลนิธิธรรมดี คุณศิริลักษณ์ เมฆสังข์ กรรมการสถาบันวิทยากรคุณธรรม คุณสุรวัฒน์ ชมภูพงษ์ กรรมการสถาบันวิทยากรคุณธรรม คุณอดุลย์ ดาราธรรม สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุณวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และปิดท้ายด้วยการรับมอบประกาศนียบัตร
"การจัดโครงการวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม Sustainability c Moral "ตามรอยพระราชา" ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการให้เจ้าหน้าที่ วิทยากร และปราชญ์ชาวบ้าน เข้าใจถึงกระบวนการในการออกแบบกิจกรรม "นวัตกรรมศาสตร์พระราชา" สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการถ่ายทอดศาสตร์พระราชา ในพื้นที่ของตนต่อไป รวมถึงเพื่อให้เกิดการบูรณาการ การพัฒนานวัตกรรมศาสตร์พระราชา จาก 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้" รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวสรุปติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook ตามรอยพระราชา - The King's Journey
ที่มา: ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)