ม.มหิดล สานต่อเป้าหมาย "Net Zero 2030" จัด "Mahidol Sustainability Week" 2 - 9 ธ.ค.2564 นี้ทางออนไลน์

พฤหัส ๒๕ พฤศจิกายน ๒๐๒๑ ๑๕:๓๒
วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันสิ่งแวดล้อมไทย" จัดตั้งโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยกันรักษาดูแล

ในยุคสมัยที่ COVID-19 ได้เข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนเช่นปัจจุบัน ทำให้เกิดโจทย์สำคัญ คือ จะดำเนินชีวิตต่อไปให้ยั่งยืนได้อย่างไร หากไม่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง "สุขภาวะ" และ "สิ่งแวดล้อม"

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ" ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่ผ่านมาได้พยายามนำองค์ความรู้ด้านสุขภาวะมาบูรณาการกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จากการปรับเปลี่ยนนโยบายสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยยั่งยืน" ที่สนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals: SDGs ทั้ง 17 ข้อ

ซึ่งการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะนำมาซึ่งสุขภาพกายและใจที่ดี ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดี จากการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เริ่มจากการสร้าง Leadership หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน จนปัจจุบันสามารถลดจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อนได้ถึง600 ตันต่อปี โดยเป้าหมายอยู่ที่ "Net Zero 2030" หรือการสามารถทำให้ส่วนต่างของปริมาณการเพิ่มขึ้นและลดลงของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มีจุดสมดุลเท่ากับ "ศูนย์" ให้ได้ภายในปีพ.ศ.2573

9 หลักการสู่ "Net Zero 2030" ได้แก่ ก้าวที่ 1 การใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ก้าวที่ 2 การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) ก้าวที่ 3 การคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Clean Energy for Transportation) ก้าวที่ 4 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Green Area  Carbon removal) ก้าวที่ 5 การจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) ก้าวที่ 6 งานวิจัยและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลด หรือดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Research & Technology for a Carbon Capture / Reduction) ก้าวที่ 7 การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นพื้นฐาน (Plant-based) ก้าวที่ 8 ขยะสู่แหล่งฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero waste to landfill) ก้าวที่ 9 การพัฒนารูปแบบการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจก(Monitor & Improvement) ที่จะสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ โดยมีการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเทียบกับการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรณีปกติ (Business As Usual) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น(Climate Action)

และเพื่อให้เกิดผลต่อเนื่องที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงไม่หยุดยั้งที่จะเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งด้วยพลังงานทดแทน Solar Energy จากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือจะเป็นการเพิ่มพื้นที่เขียว ด้วยการปลูกต้นไม้ และการจัดการขยะด้วยหลักการ "Reuse" หรือการนำกลับมาใช้ใหม่"Recycle" หรือการนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำเอากลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนการ "Upcycling" หรือการนำไปแปรรูปเพื่อก่อให้เกิดมูลค่า

นับเป็นปีที่ 2 แล้วที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัด "Mahidol Sustainability Week" หรือสัปดาห์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางออนไลน์ โดยในปี 2564 นี้กำหนดจัดตั้งแต่วันที่ 2 - 9 ธันวาคม 2564 ภายใต้แนวคิด "Actions towards Sustainabilty Goals" หรือ "การดำเนินการสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

นอกจากจะมีประชุมวิชาการออนไลน์ "Mahidol Sustainable Development Conference 2021" ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานทางวิชาการที่ครอบคลุมทั้งในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การพัฒนาสุขภาวะที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ SDGs Talk ที่มากด้วยสาระอีกเช่นเคย

โดย SDGs Talk ในปีนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ "Mahidol for Sustainable Future" โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล "วิเทศสัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดย คุณหญิงลักษณาจันทรเลาหพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลผู้ทรงคุณวุฒิและ "การพัฒนางานวิจัยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

"Net Zero" จะบรรลุเป้าหมายได้ทัน 9 ปีข้างหน้าหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่าวันนี้พวกเราชาวไทยได้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ลูกหลานไทยอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้อย่างยั่งยืนกันแล้วหรือยัง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปติดตามหาคำตอบได้ที่ FB: Mahidol University Sustainability

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ