ผลงาน "วว. พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับ" วว. ดำเนินการครบวงจรร่วมกับพันธมิตร ในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช คัดเลือกสายพันธุ์ ส่งเสริมละพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยด้วยต้นทุนที่เหมาะสม มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดเลย สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 ราย ในรูปแบบเครือข่ายคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจำนวน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา เลย สุพรรณบุรี นครนายก รวมทั้งจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบัน วว. บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเลยดำเนินการจัดทำโครงการบูรณาการแบบ "มาลัยวิทยสถาน" เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์
ผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับของ วว. เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยไทย เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปช่วยขับเคลื่อน นโยบาย BCG Model ของรัฐบาล ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม มีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการขับเคลื่อนด้วย 4 กิจกรรมย่อย ดังนี้ 1.พัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2.พัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ 3.ยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ และ 4.พัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย