สำหรับตัวอย่างกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ปลูกผักเป็นยา ปลูกป่าเป็นอาหาร บ้านหนองจิก อ.หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จในการรวมกลุ่มกัน 9 ราย เพื่อปลูกพืชผักปลอดสารพิษ รายละอย่างน้อย 1 ไร่ รวมพื้นที่การผลิต 29 ไร่ ประกอบด้วย พืชผัก ได้แก่ มะนาว มะเขือ บวบ แตงกวา ผักปลัง ผักแพว ไผ่ เป็นต้น ผลไม้ ได้แก่ มะพร้าว มะละกอ กล้วย มัลเบอร์รี่ ฝรั่ง และอ้อย นอกจากนี้ ยังปลูกข้าว และเลี้ยงไก่ไข่ ได้ผลผลิตมาใช้บริโภคภายในครัวเรือน และสร้างรายได้จากการขายหน่อไผ่ กิ่งตอน และเหง้าไผ่ ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตแล้ว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 บาท/เดือน มีช่องทางการตลาด ได้แก่ ตลาดนัดชุมชน รถเร่ขายกับข้าว ช่องทางออนไลน์ (เฟซบุ๊ก) เป็นต้น ซึ่งรายได้ดังกล่าวไม่รวมผลผลิตการเกษตรอื่นซึ่งจะทยอยให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และจะเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนการสร้างสระเก็บกักน้ำและสนับสนุนปัจจัยการผลิตโดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน ด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหน่วยงานหลักสนับสนุนปัจจัยการผลิต ด้านพืช ได้ดำเนินการสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ แผนการผลิต และความต้องการของเกษตรกร ภายหลังจากขุดบ่อและปรับปรุงดินเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ กิ่งพันธุ์ไม้ผล ไม้ยืนต้น (ไม้ที่ให้ผลผลิต) และเมล็ดพันธุ์พืชผักสมุนไพร เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างช่องทางการตลาด โดยให้กลุ่มเกษตรกรยึดหลักตลาดนำการผลิต สำรวจศักยภาพของกลุ่มตนเองตามระบบส่งเสริมการเกษตร จากการประสานความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีผลผลิตการเกษตรไว้บริโภค สามารถสร้างเครือข่ายตลาดในชุมชนและตลาดออนไลน์ เกิดรายได้เพิ่มเติมในครัวเรือน ลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลงได้ด้วยอาชีพเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร