นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน เปิดเผยว่า จากเทรนด์การใช้ทองคำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือขนม เพื่อความสวยงาม หรูหรา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้น ทางสถาบันได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารและขนมที่มีทองคำเปลวใช้ตกแต่ง และมีวางจำหน่ายทั่วไปในตลาดนัด เพื่อนำมาตรวจสอบ พบว่ามีการใช้ทองคำเปลวปลอม ซึ่งไม่มีส่วนผสมของทองคำแต่เป็นทองสังเคราะห์มาใช้โดยองค์ประกอบธาตุที่ตรวจพบ คือ ทองเหลือง ซึ่งมีส่วนผสมของ ทองแดง สังกะสี นิเกิล โครเมียม อลูมิเนียมและยังมีโลหะหนักอื่นๆ ผสมอยู่ซึ่งหากนำไปตกแต่งหรือเป็นส่วนผสมในอาหารอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และอาจจะสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดโรคจากพิษโลหะหนักส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
การนำทองคำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร นั้น มีการใช้มานานแล้วทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% (Au) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่ดูดซึม ไม่ย่อย และขับถ่ายออกมาตามปกติ อย่างไรก็ตาม ทองคำบริสุทธิ์นั้นราคาสูงมาก จึงมีการนำทองคำที่ค่าความบริสุทธิ์ต่ำ ทองคำสังเคราะห์ หรือ ทองวิทยาศาสตร์มาใช้ทดแทนอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีโทษต่อร่างกายอย่างมากตามที่กล่าวไปแล้ว
ดังนั้น หากผู้บริโภคจะรับประทาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ ควรมั่นใจว่าเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99%
ทั้งนี้ หากผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการต้องการความมั่นใจในการนำทองคำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ สามารถนำทองคำมาตรวจสอบค่าความบริสุทธิ์ และโลหะเจือปนที่เป็นพิษกับสถาบันได้ หรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของสถาบันเบื้องต้นที่ Application CARAT แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจาก GIT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า โทร 02 634 4999 ต่อ 421 - 425
ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)