นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า หลังจากที่หลายประเทศเริ่มพบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล และอาจมีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์ Delta อีกทั้งได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายพื้นที่ในแอฟริกาแล้ว รวมทั้งอาจมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะสามารถควบคุมหรือจัดการไวรัส COVID สายพันธุ์ใหม่นี้ได้อย่างไร คาดว่าแต่ละประเทศคงต้องใช้นโยบายเชิงป้องกันด้วยการจำกัดการเดินทางเข้าและออกประเทศอย่างเข้มงวด ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินถึงความเสียหาย แต่เบื้องต้นได้คาดการณ์กรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ไว้ 2 กรณีคือ 1.กรณีที่ไม่รุนแรง (Best Case Scenario) และ 2.กรณีที่สร้างผลกระทบรุนแรง (Worst Case Scenario)
โดยกรณีสร้างผลกระทบรุนแรงนั้น หาก Omicron มีความสามารถในการระบาดสูงกว่า Delta 2 เท่า และวัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้ หากเป็นเช่นนี้ทั่วโลกอาจจะเจอกับการแพร่ระบาดรุนแรงเทียบเท่ากับเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ Alpha ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือหลายประเทศอาจต้องกลับไปใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้ง เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยจะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จนโรงพยาบาลรับไม่ไหว
"ยิ่งไปกว่านั้นการ Lockdown รอบนี้รัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศเริ่มจะมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง อีกทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จะถูกกระทบจากผลของ Lockdown ทำให้เงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง แม้ความต้องการบริโภค (Demand) จะลดลง ทั้งนี้ หากเป็นไปคาดการณ์ว่า Omicron ระบาดอย่างรุนแรง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสปรับลงจากปัจจุบันถึง 15-20%" นายคมศรกล่าว
ในทางกลับกัน กรณีผลกระทบไม่รุนแรง (Best Case Scenario) โดย COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่กังวล ตลาดหุ้นก็อาจปรับขึ้น (Rebound) กลับไปในระดับก่อนมีข่าว หรือมีโอกาสปรับขึ้นประมาณ 2-3% เท่านั้น
นายคมศรกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าโอกาสที่หุ้นทั่วโลกจะปรับตัวลง (Downside) ยังมีมากกว่า โอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น (Upside) อย่างมาก ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้จึงประเมินว่า ตลาดหุ้นที่ระดับปัจจุบันยังไม่สะท้อนความเสี่ยงจากประเด็นนี้อย่างเพียงพอ และน่าจะยังถูกกดดันต่อเนื่องในระหว่างที่กำลังรอความชัดเจน ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
ที่มา: ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป