วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2564) - ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว และประธานกรรมการตัดสินผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 20 เปิดเผยว่า การจัดงานในวันนี้ แตกต่างจากพิธีมอบรางวัลใน 19 ครั้งที่ผ่านมาเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ภายใต้วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สถาบันลูกโลกสีเขียวก็ยังคงเดินหน้าปฏิบัติภารกิจต่อไปถึงแม้ว่าจะต้องมีการปรับการทำงานให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม เช่นเดียวกันกับที่ชุมชนยังคงต่อสู้เพื่อรักษาป่า ยังใช้ป่าเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สร้างป่าชุมชนเพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเรียนรู้
สำหรับผลงานรางวัลทั้ง 42 ผลงานจากทั่วประเทศใน 7 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทชุมชน 8 ผลงาน ประเภทกลุ่มเยาวชน 4 ผลงาน ประเภท "สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน" 7 ผลงาน ประเภทบุคคล 8 ผลงาน ประเภทงานเขียน 4 ผลงาน ประเภทความเรียงเยาวชน 9 ผลงาน และประเภทสื่อมวลชน 2 ผลงาน
ดร.สุเมธ กล่าวว่า การทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียวในการสนับสนุนคนตัวเล็ก ๆ ให้ร่วมมือร่วมใจอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า มาตลอดและต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษนั้นเป็นมิติของการทำงานที่สะท้อนการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นเหตุและผลกระทบที่หยิบยกขึ้นมาหารือในระดับเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่องหรือแม้แต่เวทีประชุมล่าสุด COP 26 ก็ตาม
ผลงานประเภทบุคคลยังมีความน่าสนใจเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา มีให้ได้เห็นถึงตัวอย่างบุคคลอย่าง นายดวงแก้ว สมพงษ์ ที่ท่องเที่ยวไปทั่วแต่สุดท้ายก็เกิดความคิดที่ต้องการอนุรักษ์ป่าในท้องถิ่นให้อุดมสมบูรณ์เหมือนบ้านอื่น จากสิงห์นักบิดกลายมาเป็นนักสร้างฝ่ายตัวยง มีตัวอย่างของ นายเดชา จือเหลียง คนที่ทำงานอนุรักษ์ป่าชายเลนมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง มีตัวอย่างของการได้รับรางวัลซึ่งจะเป็นกำลังใจสำคัญให้ผู้เถ้าวัยชราอย่าง นายเลื่อน มีแสง ให้เกิดความภาคภูมิใจต่อการอนุรักษ์พืชพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างพลังพลึงธาร หรือแม้แต่รางวัลสำหรับพระคุณเจ้า หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม ที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นจากความทุกข์ของโรคมะเร็งและเป็นที่พึ่งทางกายและจิตผ่านธรรมชาติบำบัด
สำหรับผลงานประเภทกลุ่มเยาวชนก็ยังมีอีกหลายผลงานที่คงให้ความสำคัญเรื่องการจัดการขยะ เรื่องการปลูกต้นไม้ และ เรื่องของการสร้างจิตสาธารณะในการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ รางวัลประเภทกลุ่มเยาวชนมีความพิเศษตรงที่ว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือเมล็ดพันธุ์ที่ต้องได้รับการเพาะเลี้ยงและต่อยอดให้เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ในขณะที่รางวัลความเรียง งานเขียน และสื่อมวลชน ก็ยังเป็นพลังปลุกให้สังคมตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่จะมีผลต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต
ส่วนผลงานทั้งรางวัลประเภทชุมชน และประเภท "สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน" ก็ต้องขอชื่นชมเพราะการทำงานให้เกิดความยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้ง การทำงานกับกลุ่มคนให้มีความสามัคคี เพื่อมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน โดยที่อาจจะต้องเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมนั้นเป็นเรื่องยาก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือพื้นที่ป่ารวมกันหลายหมื่นไร่กระจายไปทุกภาคของประเทศ ด้วยพลังของชุมชนเครือข่ายลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 20 มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง อาทิ ชุมชนวังตะกอ ชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น ผลงานประเภทชุมชน และสิปปนนท์ฯ นั้นควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูเป็นอย่างมาก
ในอนาคต คนและทรัพยากรจะยิ่งต้องพึ่งพิงกันมากขึ้น ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้คนกลับคืนถิ่น การรู้ใช้ รู้รักษาทรัพยากรจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกชุมชนต้องเร่งสร้างความตระหนักต่อการปรับตัวให้เข้ากับวิถีที่คนกับธรรมชาติจะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เพื่ออนาคตของลูกหลานไทย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่า ในวันนี้ บทบาทของสถาบันลูกโลกสีเขียวจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากวิกฤติโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งนานาชาติล้วนตระหนักและให้ความสำคัญต่อแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และทุกคนทั่วโลกก็ล้วนให้การยอมรับว่า ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์นั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยลดหรือบรรเทาปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การดำเนินงานของสถาบันลูกโลกสีเขียวมีส่วนอย่างมากในการร่วมผลักดันประเทศไทยและโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สำหรับการจัดพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 20 นั้นดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยจัดในรูปแบบ 4 ภาคเพื่อลดจำนวนผู้ร่วมงานในแต่ละเวที มีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้นกว่าสี่ล้านบาท โล่รางวัลพร้อมใบประกาศนียบัตร และทำการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กวารสารลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการจัดงานที่ว่า "พลังเปลี่ยนโลก : สร้างวิถีใหม่ให้เราอยู่รอด"
ที่มา: ปตท.